หุ่นยนต์-ต่างชาติ' อุดช่องว่างแรงงานญี่ปุ่นหด :
"ญี่ปุ่น" มีชื่อเสียงเรื่องนวัตกรรมระบบอัตโนมัติที่เพิ่มผลผลิต และหุ่นยนต์คล้ายมีชีวิตจริงอย่าง "ไอโบ" หุ่นยนต์ลูกสุนัขของบริษัทโซนี่ แต่ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเชื่อว่าความก้าวหน้านี้ทำให้มนุษย์ที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้น "สูญเสีย" มากกว่า "ได้" ขณะเดียวกัน รัฐบาลเล็งเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้าทำงานในประเทศมากขึ้น
ศูนย์วิจัยพิวของสหรัฐ เผยผล การศึกษาเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.ย.) ซึ่งสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับ งานที่ใช้ระบบอัตโนมัติในเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเกิดใหม่ 10 แห่ง พบว่า 89% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวญี่ปุ่นคิดว่า "เป็นเรื่องแน่นอน" หรือ "เป็นไปได้" ที่หุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์จะแย่งงานหลายตำแหน่งที่มนุษย์ทำอยู่ในปัจจุบันภายในช่วง 50 ปีข้างหน้า ขณะที่เพียง 1% ตอบว่ามั่นใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น "อย่างแน่นอน"
อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นมองแง่บวกเกี่ยวกับผลกระทบของแรงงานระบบอัตโนมัติที่มีต่อเศรษฐกิจมากกว่าผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศอื่นๆ ในญี่ปุ่น 74% กล่าวว่า เศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อใช้หุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ทำงานมากขึ้น ขณะที่เพียง 33% ของชาวอิตาลีที่คาดว่าหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์จะให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
หวั่นเพิ่มช่องว่างคนรวย-จน
ผลสำรวจยังพบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจไม่กี่คนเชื่อว่า ผลประโยชน์เหล่านี้จะขยายทั่วถึงทุกฝ่าย โดย 83% ของชาวญี่ปุ่นคาดว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะยิ่งห่างกว่าในปัจจุบันอย่างมาก
ญี่ปุ่นมีความกังวลว่า มนุษย์จะประสบปัญหาเรื่องการหางานในภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนแรงงานระบบอัตโนมัติสูง ค่อนข้างน้อยกว่าประเทศอื่นๆ โดย 91% ของชาวกรีซหวั่นเกรงเกี่ยวกับความมั่นคงในงานของตน ขณะที่ญี่ปุ่นกังวลเรื่องนี้น้อยกว่าเล็กน้อยอยู่ที่ 74% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในกลุ่ม 9 ประเทศที่ได้คำถามว่าหุ่นยนต์จะทำให้การหางานยากขึ้นหรือไม่
พิวชี้ว่า ขณะนี้ ญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบติดตั้งในโรงงานมากกว่า 3 ตัวต่อแรงงานมนุษย์ทุกๆ 100 คน
รายงานเรื่องการเงินและการพัฒนาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า ญี่ปุ่นมีความกังวลเรื่องหุ่นยนต์แย่งงานในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เล็กน้อย
ไอเอ็มเอฟคาดว่า เนื่องด้วยอัตราการเกิดต่ำ จำนวนประชากรญี่ปุ่นจึงลดลงเป็นสถิติใหม่ 264,000 คนในปี 2560 และแรงงานจะลดลงอีก 24 ล้านคนภายในปี 2593 ทั้งนี้ ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศหนึ่งที่หุ่นยนต์อาจเข้ามาเติมเต็มช่องว่างจำนวนประชากรที่ลดลง
"สำหรับความกังวลทั้งหมด ระบบอัตโนมัติและการใช้งานหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ ผลกระทบเชิงบวกต่อการจ้างงานภายในประเทศและการเติบโตด้านรายได้ในญี่ปุ่น" รายงาน ไอเอ็มเอฟชี้ และว่า "ที่เห็นได้ชัดคือ ผลการศึกษา เหล่านี้ตรงข้ามกับผลสำรวจคล้ายกันที่ อิงข้อมูลของสหรัฐ ดูเหมือนว่าประสบการณ์ของญี่ปุ่นอาจแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับ เศรษฐกิจพัฒนาแล้วแห่งอื่นๆ"
ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า เนื่องจากจำนวนแรงงานที่เหลือน้อยลงอย่างมากและแนวโน้มที่เลือนราง สำหรับการผ่อนคลายนโยบายผ่านการตรวจคน เข้าเมืองที่เข้มงวดขึ้น ระบบอัตโนมัติและ หุ่นยนต์สามารถอุดช่องว่างแรงงานและส่งผลให้เกิดผลผลิตสูงขึ้นและรายได้เพิ่มขึ้น มากกว่าการนำไปแทนที่แรงงานมนุษย์
เล็งดึงดูดแรงงานต่างชาติ
ในขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมตัวเปิดประตูรับแรงงานต่างชาติเข้าประเทศมากขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. ปีหน้า รัฐบาลกำลังทำงานเพื่อหาความท้าทายในอนาคตที่ประเทศอาจเผชิญและร่างแนวทางแก้ปัญหาที่มีรายละเอียดภายในสิ้นปีนี้
ความหวังคือการช่วยให้ชาวต่างชาติเหล่านี้ปรับตัวเข้ากับสังคมญี่ปุ่นได้ แนวคิดหนึ่งคือการตั้งหน่วยงานช่วยเหลือที่สื่อสารได้หลายภาษาสำหรับงานต่างๆ เช่น การจองนัดพบแพทย์ และการหาสถานที่สำหรับพักอาศัย เช่นเดียวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการลดลง ของประชากรวัยทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบ อย่างไม่สมส่วนต่อบริษัทนอกเมืองใหญ่และธุรกิจขนาดเล็กกว่าในภาพรวม และเพื่อป้องกันไม่ให้แนวโน้มนี้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดประเภทใหม่ให้กับ ใบอนุญาตทำงาน (เวิร์กเพอร์มิต) สำหรับชาวต่างชาติ
เวิร์กเพอร์มิตประเภทใหม่จะทำให้แรงงานที่มีทักษะเจาะจงและใช้ภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่ว เช่นเดียวกับกลุ่มที่จบโครงการนักศึกษาฝึกงานเทคนิคเฉพาะทาง มีงานทำในญี่ปุ่นนานถึง 5 ปี
คณะกรรมาธิการชุดนี้ก่อตั้งโดยสำนักรัฐมนตรีญี่ปุ่น และกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้จัดการประชุมรอบแรกเมื่อวันพฤหัสบดี ร่วมกับสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนธุรกิจรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และสมาพันธ์ สหภาพการค้าญี่ปุ่น กลุ่มสหภาพแรงงานของญี่ปุ่นก็เข้าร่วมประชุมด้วย โดยเป้าหมายของการประชุมคือประเมินสถานการณ์จากทั้ง มุมมองของนายจ้างและลูกจ้าง
ตัวอย่างเช่น แรงงานที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้จำกัด อาจประสบปัญหาในการเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการรับเงินเดือน รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าจะออกมาตรการเพื่อรับประกันว่าแรงงานเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทนไม่ว่าจะมีบัญชีธนาคารหรือไม่ก็ตาม คณะกรรมาธิการช่วยเหลือแรงงานต่างชาติจะผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ออกข้อแนะนำให้บริษัทที่ถูกพบว่าละเมิดกฎหมายแรงงาน
ติดตามสถานะแรงงาน
ความกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือแรงงาน บางส่วนอาจฝ่าฝืนการขอเวิร์กเพอร์มิต รัฐบาลกำลังหาวิธีติดตามสถานะของแรงงานกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการติดตามงานและอุตสาหกรรมเฉพาะที่พวกเขาทำงานอยู่ในช่วงนั้น อีกทั้งตั้งเป้าที่จะตรวจสอบว่าพวกเขา มีประกันสังคมหรือไม่ และเรียกร้องให้แรงงานเหล่านี้และนายจ้างยื่นเรื่องหากยังไม่ได้ทำประกันสังคม
นอกจากนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการเริ่มเปรียบเทียบประวัติจากกระทรวงยุติธรรมซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กับข้อมูลที่นายจ้างแจ้งกับกระทรวงแรงงาน หากประวัติไม่ตรงกัน รัฐบาลจะติดต่อบริษัทให้ทำการยืนยันว่าแรงงานคนนั้นยังคงเป็นลูกจ้างตนหรือไม่
"มีความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อครอบครัวและ ลูกของแรงงาน" ฮิโรยะ มาสึดะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้สถาบันวิจัยโนมูระ กล่าว และว่า "เรื่องนี้ต้องใช้ทรัพยากรของรัฐบาลระดับชาติ ไม่ใช่เพียงรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น"
ขณะนี้ ญี่ปุ่นกำลังปรับปรุงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้เป็นหน่วยงานรัฐบาลครบวงจรในเดือน เม.ย. 2562 และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อรับมือกับกระแสไหลเข้าของแรงงานต่างชาติ
หลายคนเชื่อว่าระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะช่วยให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองแต่ต้องแลกกับโอกาสจ้างงานของมนุษย์
Source: กรุงเทพธุรกิจ
- In Advanced and Emerging Economies Alike, Worries About Job Automation: http://www.pewglobal.org/…/in-advanced-and-emerging-econom…/