เปิดสงครามเย็นศก.จีน-มะกันพลิกระเบียบโลก : ในที่สุดการขึ้นภาษีรอบใหม่ระหว่าง 2 เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก็เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วในวันจันทร์ที่ 24 ก.ย.นี้ หลังจากที่จีนประกาศล้มโต๊ะการเจรจากับสหรัฐในสัปดาห์นี้ และทำให้ช่องทางเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่ายดูมืดมนลง

ฝ่ายสหรัฐขึ้นภาษีรอบใหม่กับสินค้าจีน 10% จำนวน 6,000 รายการ รวมเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ฝ่ายจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีระหว่าง 5-10% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 5,207 รายการ รวมเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ นับเป็นการต่อยอดจากเดิมที่ทั้งสองประเทศขึ้นภาษีรอบแรกกันไปแล้วฝ่ายละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ ณ ปัจจุบัน ศึกพิพาทการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 11.7 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว

ทว่า ประเด็นที่สร้างความกังวลให้ทั่วโลกมากกว่าก็คือ สงครามการค้าครั้งนี้จะไปจบที่ตรงไหน และเมื่อไร

แจ็ค หม่า แห่งอาลีบาบา บอกว่าศึกนี้อาจจะยืดเยื้อไปนานถึง 20 ปีเห็นจะได้ ขณะที่นักวิเคราะห์ของ เอเชียไทมส์ให้ไว้ถึง 30 ปี เมื่อมองจากยุทธศาสตร์ใหญ่ของฝั่งจีน

ทั้งนี้ อัตราภาษีรอบใหม่ที่ 10% และ 5-10% อาจดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสงครามการค้ายุคทศวรรษ 30 ที่อยู่ระหว่าง 13.5% จนถึงสูงสุด 59.1% (เฉลี่ยที่ราว 40%) ทำให้ตลาดทุนและนักวิเคราะห์บางส่วนยังพอวางใจได้บ้าง

แต่หากดูจากท่าทีที่จีนปิดประตูเจรจา (เบื้องต้น) ท่ามกลางความขัดแย้งที่ลุกลามออกไปยังภาคอื่นๆ ตั้งแต่ด้านสื่อจนถึงด้านกลาโหม และการตั้งการ์ดภายในของจีนเพื่อพร้อมรับแรงกระ แทกล็อตใหม่ ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่านี่น่าจะเป็นศึกที่ยาวและยืดเยื้อกว่าที่คาด และอาจบานปลายไปสู่ "สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ" ที่โลกไม่ได้เห็นมานานแล้วนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับอดีตสหภาพโซเวียต

สมมติฐานที่ว่าประเทศหัวการค้าอย่างจีน และประธานาธิบดีหัวธุรกิจอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะคุยกันเบื้องหลังได้รู้เรื่อง เพราะเป็นเรื่อง "ผลประโยชน์" เหมือนกันนั้น อาจไม่เป็นจริงเสมอไป หากทั้งสองฝ่ายมองไปยังภาพที่ใหญ่กว่าอย่าง "อนาคตของชาติ"แม้อาจมีบางคนดูถูกว่าทรัมป์ไม่น่าจะจริงจังขนาดนั้น และน่าจะเป็นเพียงเกมการเมืองหวังผลเลือกตั้งมากกว่า แต่คุณไม่อาจประเมินจีนต่ำเกินไปแค่ในฐานะพ่อค้าได้ เพราะนโยบายต่างๆ ของจีนในวันนี้ล้วนเป็นการเตรียมเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีภายใต้ยุทธศาสตร์ "เมด อิน ไชน่า 2025" (Made in China 2025) และฟื้นความรุ่งเรืองของจีนให้กลับมาอีกครั้งแบบยิ่งใหญ่กว่าแผนการมาร์แชลของสหรัฐช่วงหลังสงครามโลก กับยุทธศาสตร์ "แถบและถนน" (Belt and Road : BRI)

ส่วนฝั่งสหรัฐเองที่เต็มไปด้วยสายเหยี่ยวหลายคน เช่น ปีเตอร์ นาวาร์โร ผู้อำนวยการสภาการค้าแห่งชาติสหรัฐ และวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์นั้น ก็ตอกย้ำมาตลอดว่าจีนต้องปรับพฤติกรรมมา "เล่นตามกฎ" ซึ่งการขึ้นภาษีของสหรัฐเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการบีบจีนภายใต้ คอนเซ็ปต์สำคัญ 3 ประการ คือ 1.เตะจีนออกจากศูนย์กลางซัพพลายเชนโลก 2.บีบให้บริษัทเอกชนหันไปพึ่งผู้ผลิตรายอื่นแทน และ 3.บีบให้ภาคเอกชนระหว่างประเทศหยุดทำธุรกิจกับจีน ทั้งสามข้อนี้แม้จะดูเป็นไปได้จริงยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย และยังสะท้อนถึงความจริงจังของสหรัฐที่ต้องการสกัดการขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีนในอนาคต

ดังนั้น ไม่ว่าจะมองจากในมุมที่ทั้งสองฝ่ายแตกต่างทางความคิดอย่างสิ้นเชิง และในมุมที่เดิมพันอนาคตของชาติเอาไว้ ทั้งสองประเทศนี้ หรืออย่างน้อยก็คือจีน จึงไม่น่าจะยอมถอยจากหลักการของตัวเอง และทำให้สมมติฐานเรื่องสงครามเย็นทางเศรษฐกิจระหว่างขั้วสหรัฐกับจีน ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น

แอรอน ฟรีดเบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งเป็นผู้ดูนโยบายด้านจีนในฐานะที่ปรึกษาให้อดีตรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ สมัยประธานาธิบดีบุชคนลูก ให้มุมมองกับ วอชิงตันโพสต์ว่า การเผชิญหน้าของทั้งสองประเทศใหญ่อาจนำไปสู่ภาวะสงครามเย็นทางเศรษฐกิจระหว่างขั้วสหรัฐกับขั้วจีน

การแบ่งขั้วดังกล่าวจะเปลี่ยนโฉมความสัมพันธ์ทางการค้าเกือบ 4 ทศวรรษที่พึ่งพากันมาระหว่าง 2 ประเทศนี้ และจะส่งผลกระทบไปยังทั้งระบบเศรษฐกิจโลก เขย่าตลาดการเงิน ซัพพลายเชนของภาคธุรกิจ และยังเสี่ยงกระทบไปถึงภาคการทหารด้วย

ทรัมป์นั้นขู่มาตลอดว่าจะขึ้นภาษีให้แรงขึ้นอีกด้วยภาษีล็อตใหม่ 2.67 แสนล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่าได้กับการขึ้นภาษีสินค้าจีนทุกรายการทั้งหมด หากจีนตอบโต้กลับในล็อต 2 แสนล้านดอลลาร์ ปัจจุบันจีนทั้งขึ้นภาษีกลับและประกาศยกเลิกการเจรจาทีมการค้ากับสหรัฐ ทำให้เกิดการจับตาว่า ทรัมป์จะขึ้นภาษีอีกตามที่ขู่ไว้หรือไม่ ซึ่งโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐน่าจะทำตามที่ขู่ในวงเงิน 2.57-2.67 แสนล้านดอลลาร์ ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

แกรี ฮัฟโบเออร์ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มองว่าหากทรัมป์ขึ้นภาษีดังกล่าวจริง ก็จะเท่ากับว่าสหรัฐมุ่งสู่การเผชิญหน้าสงครามเย็นกับจีนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และจะนำไปสู่การจำกัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในทุกรูปแบบตามมา

"คนมักจะมุ่งจับตาไปที่เรื่องการขึ้นภาษีเป็นหลัก ทั้งที่เป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น มาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษีก็สำคัญไม่แพ้กัน และอาจมีผลสืบเนื่องยาวนานกว่าด้วย" ไมเคิล เฮอร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ ยูเรเซีย กรุ๊ป กล่าว

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday


ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share