ต้อนธุรกิจกู้รายย่อยเข้าระบบ : ช่วงนี้ กระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข็นหลักเกณฑ์ที่ เกี่ยวกับธุรกิจ "การให้กู้เงิน"
แก่ประชาชน เข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจประเภทใหม่หมาด ๆ อย่าง "ธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล" (peer-to-peer lending platform หรือ P to P) และ "สินเชื่อ ที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน" (จำนำ ทะเบียนหรือ car for cash)
โดยแพลตฟอร์มการกู้ตรงระหว่างบุคคล นั้น กระทรวงการคลังได้ออกประกาศ ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561 กำหนดให้ผู้ที่ทำธุรกิจเป็น "แพลตฟอร์ม" ต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง และตีกรอบการคิดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15%
"ฤชุกร สิริโยธิน" รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า peer-to-peer lending platform จะช่วยตอบโจทย์การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะสตาร์ตอัพต่าง ๆ ที่มีโครงการที่น่าสนใจ แต่กู้แบงก์ไม่ผ่าน จะสามารถกู้ผ่านทางแพลตฟอร์มได้
ขณะที่ "สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา" ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. อธิบายว่า จะกำหนดให้กู้เฉพาะทำโครงการ/ธุรกิจ เนื่องจากการกู้ไปใช้จ่ายมีสินเชื่อส่วนบุคคล (P loan) รองรับอยู่แล้ว และเนื่องจากธุรกิจนี้เป็นเรื่องใหม่ ธปท.จึงเห็นควรให้ต้องเข้าทดสอบในแซนด์บอกซ์ก่อนที่จะไปขอไลเซนส์จากกระทรวงการคลัง ว่ามีความพร้อมให้บริการในวงกว้างแค่ไหน เพื่อความมั่นใจทั้งในแง่การดูแล ผู้บริโภค และการดูแลความเสี่ยงต่าง ๆ
ในการเข้าแซนด์บอกซ์จะกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำ อาทิ ทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นคนไทยอย่างน้อย 75% และจดทะเบียนบริษัทในไทย แนวทางบริหารความเสี่ยงได้ดีระดับหนึ่ง ความพร้อมเทคโนโลยี กระบวนการ ดูแลลูกค้า การรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC) กระบวนการประเมินลูกค้ากระบวนการ ทำสัญญา ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์
"เราให้ความสำคัญกับกระบวนการเหล่านี้ เพราะว่าการให้กู้ลักษณะนี้จะทำบนแพลตฟอร์มที่ผู้กู้กับผู้ให้กู้ไม่ได้เจอหน้ากัน รวมถึงการดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ เราต้องดูให้มั่นใจก่อนจะให้บริการในวงกว้าง สำหรับธนาคารพาณิชย์สามารถทำ ธุรกิจแพลตฟอร์มได้โดยไม่ต้องขอไลเซนส์ ใหม่ แต่ ธปท.จะมีแนวปฏิบัติเป็นพิเศษต่างหาก"
ส่วนวิธีการกู้/ให้กู้ ก็คือ ผู้กู้ซึ่งต้องเป็นบุคคลธรรมดา ยื่นโครงการทำธุรกิจไปที่แพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้น พร้อมแสดงข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ที่จะให้กู้เข้าไปดูได้หากโครงการน่าสนใจ ก็ให้กู้ยืมได้ ซึ่งการนำเงินมาลงทุนจะฝากไว้กับเอสโครว์เอเย่นต์ (ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์) ซึ่ง ธปท.นำประสบการณ์จากต่างประเทศมาปรับ ไม่ให้แพลตฟอร์มแตะต้องเงิน เพราะอาจเกิดปัญหาทุจริตหรือใช้เงินผิดประเภท
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังต้องการทำการประเมินเครดิตผู้กู้ (สกอริ่ง) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ให้กู้ด้วย ฝั่งผู้กู้จะต้องไม่เป็น ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม peer-topeer lending และต้องไม่นำโครงการเดียวกันยื่นกู้ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันได้รับเงินกู้เกินความต้องการ ซึ่งจะกู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/โครงการ
ส่วนผู้ให้กู้ จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ต้องเข้าใจเรื่องการประเมินความเสี่ยงระดับหนึ่ง และต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม peer-to-peer lending เนื่องจาก ธปท.ไม่ต้องการให้แพลตฟอร์มปล่อยกู้เอง โดยการให้กู้ ถ้าเป็นนักลงทุนรายย่อยกู้ได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี กลุ่มไฮเน็ตเวิร์ท จะไม่จำกัดวงเงินลงทุน (ให้กู้)
"สิริธิดา" กล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มที่ได้ออกจากแซนด์บอกซ์ ธปท.จะเสนอกระทรวงการคลังออกใบอนุญาต โดยคาดว่าจะประกาศเกณฑ์ได้ก่อนสิ้นปีนี้ พร้อมรับฟังความเห็น จากนั้นผู้ที่สนใจก็ยื่นขอเข้าแซนด์บอกซ์ต่อไป
ส่วนธุรกิจ "จำนำทะเบียน" นั้น "ดารณี แซ่จู" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. บอกว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ บริการสินเชื่อประเภทนี้ 3 ล้านราย มีผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย ซึ่งมีแค่ 100 รายที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 30 รายที่มีไลเซนส์ P loan อยู่แล้ว
ปัจจุบัน ผู้ที่มีไลเซนส์พีโลนที่ทำจำนำทะเบียนแล้วราว 17 ราย อาทิ 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ เมืองไทยลิสซิ่ง, ศรีสวัสดิ์ และเงินติดล้อ เป็นต้น โดยผู้จะขอไลเซนส์พีโลน ต้องมีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งจะปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนได้ไม่จำกัดตามมูลค่าหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่เกิน 28% ต่อปี ยกเว้นค่าทวงถามหนี้บวกเพิ่มได้ตามจริง
ทั้งนี้ ธปท.ขยายขอบเขตธุรกิจของสินเชื่อพีโลน ให้ครอบคลุมถึงจำนำทะเบียนด้วย เพื่อให้ประชาชนระดับฐานรากและกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ แต่มีหลักประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องเกณฑ์กำกับธุรกิจจำนำทะเบียนรถสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ จนถึงวันที่ 12 ต.ค.นี้ และคาดว่าเกณฑ์ดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ย.ปีนี้
"หลังเกณฑ์ออกมา ผู้ที่มีไลเซนส์พีโลนอยู่แล้ว ไม่ต้องขอใหม่ แต่ต้องมาแจ้งให้ ธปท.ทราบ ส่วนผู้ที่ทำธุรกิจจำนำทะเบียนอยู่ และเข้าข่ายเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องมาขอใบอนุญาตภายใน 60 วัน หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย"
การดึงธุรกิจจำนำทะเบียนเข้าระบบ "ดารณี" บอกว่า ผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์ คือ สามารถเปรียบเทียบอัตรา ดอกเบี้ย ค่าบริการ ค่าปรับ และค่าธรรมเนียมได้, ได้ทราบรายละเอียดการกู้, ได้รับการแจ้งเตือนก่อนจ่ายค่างวด, มีเงิน จ่ายก่อนต้องได้จ่าย โดยได้ส่วนลดดอกเบี้ย 100%, ร้องเรียนได้, ไม่โดน เอาเปรียบจากค่าธรรมเนียมเกินจริง หรือโดนคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อน, ได้รับส่วนต่าง คืน หากรถถูกขายทอดตลาด, จ่ายค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ตามจริง และได้รับการแจ้งล่วงหน้าก่อนโดนยึดรถ
ในอนาคตอาจจะมีกฎหมายกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน โดยจัดตั้ง หน่วยงานอิสระขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลสินเชื่อรายย่อยทั้งหมดแยกออกจาก ธปท.เพื่อดูแลผู้บริโภคและการทำธุรกิจเป็นไปอย่างโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
Source: ประชาชาติธุรกิจ