ร้องขึ้นดอกเบี้ยจำนำรถ สุดท้าย ธปท.ยืนตามเดิม : มาช้ายังดีกว่าไม่มา สำหรับแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถ เป็นหลักประกันหรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เตรียมประกาศออกมาใช้อย่างเป็นทางการใน เดือน พ.ย.นี้ หลังจากที่ไม่มีเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบที่จะควบคุมดูแลธุรกิจจำนำทะเบียนรถอย่างจริง ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ถูกเอารัด เอาเปรียบมานาน

ขณะที่ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ในปัจจุบันก็บูมขึ้นอย่างมาก และ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดกระจายอยู่ ทั่วประเทศ โดยมีผู้ให้บริการธุรกิจนี้มากกว่า 1,000 ราย มียอดคงค้างสินเชื่อ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวนใกล้เคียงกับยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลในระบบที่มี 3 แสนล้านบาท และ มีผู้ใช้บริการสินเชื่อถึง 3 ล้านคน

"ที่ผ่านมาที่ไม่มีการกำกับดูแล พบบางแห่งคิดดอกเบี้ยจำนำทะเบียนสูงอย่างน่าตกใจ เช่น รถมอเตอร์ไซค์คิดดอกเบี้ย 25-65% ส่วนรถยนต์พบการคิดดอกเบี้ย 20-50% ซึ่งลูกค้าก็ยอมจ่าย เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ รวดเร็ว เพียงนำทะเบียนรถไปก็ได้เงิน โดยไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโร ไม่ต้องมี หลักฐานรายได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีรายได้ประจำ แต่เมื่อเป็นเจ้าของรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ ก็ถือว่าเป็นผู้มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่แล้ว" ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ชี้ให้เห็นถึงภาพและความจำเป็นที่ ธปท.ต้อง เข้ามากำกับดูแลมากขึ้น

สำหรับผลดีที่ผู้บริโภคจะได้รับหลังจากนี้ จะมีด้วยกันหลักๆ 9 ข้อ ประกอบด้วย 1.ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการ ค่าปรับ และค่าธรรมเนียมได้ 2.ได้รับทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ 3.ได้รับการแจ้งเตือนก่อนจ่ายค่างวด 4.มีเงินจ่ายก่อน ต้องได้จ่าย โดยได้ส่วนลดดอกเบี้ย 100% 5.สามารถร้องเรียนได้ และได้รับ การแก้ไข 6.ไม่โดนเอาเปรียบจาก ค่าธรรมเนียมที่คิดเกินจริงหรือ โดยคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อน 7.ได้รับส่วนต่างคืนหากรถถูกขายทอดตลาด 8.จ่ายค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ตามจริงเท่านั้น และ 9.ได้รับการ แจ้งล่วงหน้าก่อนยึดรถ

อย่างไรก็ตาม จากร่างกำหนดของ ธปท.ที่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 50 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถได้ไม่เกิน 28% โดยไม่กำหนดวงเงินให้สินเชื่อแต่ให้ขึ้นอยู่กับมูลค่ารถ ค่าทวงถามหนี้ต้องคิดตามจริง สามารถปล่อยกู้ได้ทั่วประเท

ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของพิโกไฟแนนซ์ โดยต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทขึ้นไป ให้วงเงินสินเชื่อได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ราย และคิดดอกเบี้ย ไม่เกิน 36% บวกค่าติดตามหนี้ตามจริง ซึ่งกลุ่มนี้จะให้บริการได้เฉพาะในจังหวัด

ได้มีเสียงสะท้อนจาก ผู้ประกอบการบางส่วนและได้เสนอ ให้ ธปท.พิจารณาไปแล้ว โดยขอให้ มีการปรับการคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ รายเล็กหรือรายใหญ่เป็นไม่เกิน 36% ด้วยเหตุผลที่ว่า จะได้ไม่ขาดทุน เวลาที่ต้องปล่อยกู้ในวงเงินต่ำๆ หลักพันบาทถึงหมื่นบาทต้นๆ และเพื่อลดความเสี่ยงให้กับ ผู้ประกอบด้วย

"ธปท.ควรให้คิดอัตราดอกเบี้ยเพียงอัตราเดียวคือไม่เกิน 36% เท่ากันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายเล็ก เหมือนกับ

การปล่อยสินเชื่อบุคคลที่คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% เนื่องจากการปล่อยกู้วงเงินจำนวนน้อยๆ จะมี ต้นทุนสูงกว่าการปล่อยกู้วงเงิน จำนวนมาก และอาจขาดทุนจนทำให้บริษัทต้องเลิกปล่อยกู้ลูกค้ากลุ่มนี้ไป ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มนี้หันไปกู้หนี้นอกระบบเหมือนเดิมแทน" ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ กล่าว

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง กล่าวว่า จากการที่ ธปท.เปิด รับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ พบว่า ส่วนใหญ่เห็นควรให้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามวงเงินปล่อยกู้ โดยวงเงินกู้ที่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ยควรคิดได้สูง กว่า 28%

แต่ถ้าวงเงินกู้สูงกว่า 5 หมื่นบาท ก็คิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 28% ตามที่ ธปท.กำหนดไว้ ไม่มีปัญหา เนื่องจากลูกค้ารายย่อยหรือกู้วงเงินน้อยจะมี ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการปล่อยกู้ลูกค้า รายใหญ่ หากคิดดอกเบี้ยต่ำเกินไป ก็จะไม่คุ้มทุน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นในส่วนของบริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง เองโดยตรง มองว่าไม่ได้มีปัญหาหรือกระทบธุรกิจแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันบริษัทก็คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 15% บวกค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 8% รวมสูงสุดแค่ 23% เท่านั้น ยังเหลือส่วนต่างอีก 5% ที่สามารถคิดเพิ่ม ได้ตามที่ ธปท.กำหนด

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าจากข้อกำหนดของ ธปท. ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กสามารถคิดดอกเบี้ยได้ถึง 36% นั้น ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ หันมาปล่อยกู้ในระบบมากขึ้น และยังสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ได้ด้วย เพียงแต่ ถูกจำกัดพื้นที่ให้การปล่อยกู้เฉพาะจังหวัดตัวเองเท่านั้น เพราะแน่นอนหากพิจารณากันถึงเรื่องต้นทุนแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ย่อมมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและเป็นข้อได้เปรียบเชิงธุรกิจอยู่แล้ว

ดังนั้น การที่ ธปท.กำหนด ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ คิดดอกเบี้ยได้สูงสุดที่ 28% และสามารถปล่อยกู้กระจายความเสี่ยงของฐานลูกค้าได้ทั่วประเทศจึงเป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว และ เชื่อว่า ธปท.คงไม่ยอมปรับเกณฑ์ดอกเบี้ยใหม่ตามที่ผู้ประกอบการ บางส่วนร้องขอให้เป็น 36% แน่ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นปลาใหญ่ กินปลาเล็กไม่รู้จักจบสิ้น การดึงธุรกิจนอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบก็คงไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้

เพราะยังมีผู้ประกอบการบางรายที่แสดงให้เห็นได้ว่า การคิดดอกเบี้ยสูงสุดที่ 28% ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรและสามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ แถมยังมีช่องว่างเหลือพอที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ เพียงแต่จะทำหรือไม่เท่านั้นเอง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อมีข้อกำหนดชัดเจนในการดูแลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถแล้ว ภาวะการแข่งขันก็จะรุนแรงขึ้น โดยมีปัจจัยหลักเรื่องของราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเป็นสำคัญ ทำให้ ผู้ประกอบการเองก็จะไม่กล้าที่จะ คิดดอกเบี้ยสูงเกินไปจนลูกค้าหนีหายไปหมด

ดังนั้น สิ่งสำคัญทางผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลาย ก็ควรกลับไปมอง ในเรื่องต้นทุนของตัวเองจะดีกว่า ว่าได้มีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพให้ต้นทุนต่างๆลดลง ต่ำไปกว่านี้ได้หรือไม่เพราะจะว่าไปแล้วการที่ ธปท.ให้คิดดอกเบี้ยได้ถึง 28% ก็สูงอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อต้อง มีหลักทรัพย์อย่างรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไปวางค้ำประกันเพื่อ ให้ได้เงินกลับมาใช้


โดย ฉัตรชัย ธนจินดาเลิศ

Source: Posttoday

——————————————                                                                              ——————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share