อี-คอมเมิร์ซอินโดนีเซีย สนามวัดพลังจีน : เมื่อเร็วๆ นี้ บลูมเบิร์กได้รายงานบทความแสดงความเห็นชิ้นหนึ่งของ ชูลี เหริน เอาไว้ว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซ
อินโดนีเซียกำลังกลายเป็นสนามประลองวัดพลังของบรรดายักษ์ไอทีสัญชาติจีน ตั้งแต่ อาลีบาบา เทนเซนต์ และเจดีดอทคอม หรืออาจกล่าวได้ว่าอินโดนีเซียเป็นสนามที่ชัดเจนที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียนที่จีนเข้ามาลงทุน ทว่า จีนเองอาจต้องเสียเปล่าหรือได้ไม่คุ้มค่า เพราะการจะถึงจุด คุ้มทุนในตลาดอิเหนานั้นไม่ง่าย เหมือนที่อื่นๆ
แต่ตลาดอินโดนีเซียนั้นจะไม่ คุ้มค่าอย่างที่เตือนไว้จริงหรือ
เมื่อกล่าวถึงอินโดนีเซีย คนส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่จำนวนประชากร ที่มากที่สุดใน 10 ชาติอาเซียน ทำให้เหมาะต่อการลุยธุรกิจอุปโภค-บริโภคอย่างอี-คอมเมิร์ซ ซีแอลเอสเอ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 ยอดขายอี-คอมเมิร์ซในอินโดนีเซียอาจแซงหน้าอินเดีย ที่มีประชากรมากสุดอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากยอดธุรกรรมเมื่อปีที่แล้วพุ่งไปเกือบแตะ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเรียบร้อยแล้ว เมื่อเทียบกับอินเดียที่ 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์
ปัจจุบัน บริษัทไอทีรายใหญ่ของจีนต่างลงมาเล่นในตลาดค้าปลีกออนไลน์แดนอิเหนากันคับคั่ง ทั้งที่มาทำธุรกิจเองโดยตรงหรือมาลงเงินให้กับ อี-คอมเมิร์ซรายอื่น เช่น อาลีบาบา ที่ลงทุนเพิ่มอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ในลาซาด้า และยังลงทุนอีก 1,000 ล้านในโทโกพิเดีย อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่สุดในแง่ปริมาณสินค้ารวม ส่วนเจดีดอทคอม ทำเจดีดอทอินโดนีเซียโดยถือหุ้น 55% และเทนเซนต์ ลงทุนในโชปี โดยผ่านทางบริษัท ซี ที่ถือหุ้นไว้ 36% อีกทอดหนึ่ง
อย่างไรก็ดี การจะไปถึงจุดคุ้มทุนนั้นบริษัทจะต้องทำเงินให้ได้อย่างน้อย 4.5 ดอลลาร์ ต่อทุกๆ ธุรกรรม 100 ดอลลาร์ ซึ่งแม้จะให้รวมค่าโฆษณาหรือค่าคอมมิชชั่น (Take Rate) เข้าไปด้วยก็ยังถือเป็นเรื่องยาก เพราะแม้แต่อาลีบาบาที่เป็นเบอร์ 1 และครองค้าออนไลน์จีนอยู่ถึง 58% ก็ยังเก็บค่าโฆษณาได้เพียง 2.5% ในจีน แล้วตลาดอินโดนีเซียจะเอาตัวเลขตรงไหนมาสู้ได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ค้าจำนวนมากล้วนเป็นรายเล็ก ทำให้บริษัทเช่น ลาซาด้า ต้องเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าครั้งเดียวเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากมองนอกเหนือจากเรื่อง "ตัวเงินและกำไรในระยะสั้น" แล้ว อินโดนีเซียก็เป็นตลาดที่น่าดึงดูดสำหรับทุนจีนอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อมองไประยะยาว และออกนอกกรอบ อี-คอมเมิร์ซ
บลูมเบิร์ก ระบุว่า ทางหนึ่งก็คือ การควบรวมกิจการของสตาร์ทอัพ รายใหญ่อนาคตไกล เช่นที่แกร็บผนึกกับอูเบอร์มาแล้ว ในอนาคตจึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเห็น 2 แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง โทโกพีเดียและลาซาด้า มาผนึกเป็นหนึ่งภายใต้ร่มเงาของอาลีบาบาได้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าบริษัทจีนเหล่านี้ไม่ได้ทำธุรกิจแค่อี-คอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียว แต่ยังขยายไปยัง แขนงอื่นๆ ด้วย เช่น บริการฟินเทค สุขภาพ และคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งอินโดนีเซียยังมีโอกาสให้เจาะอีกมาก
การเข้าไปปักหลักถึงขั้นระยะยาวและฝังรากยังสะท้อนผ่านโปรเจกต์ล่าสุดของประธานอาลีบาบา ที่ ประกาศจะตั้ง "สถาบัน แจ็ค หม่า"ขึ้นในอินโดนีเซีย เพื่อเป็นโรงเรียนฟูมฟักผู้ประกอบการและวิศวกรเทคโนโลยีในอินโดนีเซีย ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนักด้วย
แม้ปัจจุบันอินโดนีเซียจะเป็นบ้านของยูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐหลายแห่ง แต่บุคลากรในแขนงเหล่านี้ก็ยังไม่มากพอ และอาจเกิดปัญหาการขาดช่วงจนกระทบต่ออนาคตในระยะกลางขึ้นไป
แจ็ค หม่า จึงผุดไอเดียดังกล่าวขึ้นมา โดยตั้งเป้าจะปั้นผู้นำเทคโนโลยีเลือดใหม่ให้ได้ 1,000 คน ภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับอนาคตในอินโดนีเซียที่อาลีบาบาไม่ได้ลงทุนเพียงแค่อี-คอมเมิร์ซ แต่ยังรวมถึงคลาวด์คอมพิวติ้ง โลจิสติกส์ ฟินเทค และโครงสร้างพื้นฐานกันตั้งแต่ระยะต้น
ตลาดอินโดนีเซียจึงไม่ใช่ สนามวัดผลกำไรกันปีต่อปี แต่เป็น ฐานใหญ่ของจีนในภูมิภาคนี้ที่ต้อง มองกันยาวๆ
คอลัมน์ โลกธุรกิจ โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Source: Posttoday
- China Goes for Broke in Indonesian E-Commerce:https://www.bloomberg.com/…/china-s-push-into-indonesian-e-…