การเมืองโลกปั่นป่วน เขย่าตลาด LNG : ขณะที่ทั่วโลกกำลังปั่นป่วนจากความ ขัดแย้งร้อยแปดจนกระทบต่อการค้าน้ำมันและตลาดหุ้น

ล่าสุด ตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ก็กำลังเป็นอีกภาคส่วนล่าสุดที่กำลังจะได้รับแรงเขย่าไม่น้อยจากความวุ่นวายระลอกใหม่นี้

ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดแอลเอ็นจีกำลังอยู่ในภาวะตึงตัวหนัก เนื่องจากซัพพลายหดตัวลงสวนทางดีมานด์เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ ราคาแอลเอ็นจี ที่ตลาดสปอตอยู่ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู (MMBtu) เพิ่มขึ้นมากว่า 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ราคาแอลเอ็นจีพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน ส่วนราคาแอลเอ็นจีงวดส่งมอบสิ้นปีนี้ อยู่ที่ 13-14 ดอลลาร์/ล้านบีทียู

สำหรับปัจจัยจุดชนวนให้ราคาแอลเอ็นจีพุ่งทะยานขึ้นมานั้น มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือศึกการค้าดุเดือดระหว่างจีนและสหรัฐ และราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐใกล้จะมีผลแล้วในเดือน พ.ย.นี้

ตัวจุดระเบิดใหญ่อย่างแรกคือการตั้งภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.95 ล้านล้านบาท) ซึ่งรวมถึงก๊าซแอลเอ็นจีด้วยที่ 10% และเริ่มมีผลไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยภาษีของจีนส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นตามมา และบีบให้ผู้นำเข้าจีนต้องเร่งหาแหล่งนำเข้าใหม่ที่ไม่ได้มาจากสหรัฐ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีนี้ จีนนำเข้าแอลเอ็นจีจากสหรัฐ 1.6 ล้านตัน คิดเป็น 11% มากสุดเป็นอันดับ 2 ของปริมาณการส่งออกแอลเอ็นจีของสหรัฐที่ 14.9 ล้านตัน ขณะที่สหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 5% ของการนำเข้าแอลเอ็นจีของจี

แม้ว่าขณะนี้ จีนเก็บภาษีนำเข้าแอลเอ็นจีจากสหรัฐ 10% น้อยกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ก่อนหน้านี้ แต่หากสองชาติไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้ง ได้ก่อนสิ้นปีนี้ จีนมีแนวโน้มขึ้นภาษีกับสินค้าสหรัฐเป็น 25% เนื่องจากภาษีที่สหรัฐเรียกเก็บจากจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% นับตั้งแต่ต้นปี 2019 นี้ ซึ่งนั่นจะยิ่งถีบให้ราคาแอลเอ็นจีพุ่งสูงขึ้นไปอีก

ถึงแม้สถานการณ์ดังกล่าวดูเหมือนเป็นเรื่องภายในของจีน แต่จีนถือเป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดย วู้ด แมคเคนซี บริษัทวิจัยด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ดีมานด์แอลเอ็นจีจากจีนพุ่งขึ้นมาอยู่ 150% ระหว่างปี 2017-2018 คิดเป็น 50% ของดีมานด์ทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งก็แปลว่าความเคลื่อนไหวของจีนย่อมส่งผลต่อภาพรวมตลาดแอลเอ็นจีทั้งหมด

การที่จีนต้องหาแหล่งนำเข้ามาทดแทนสหรัฐนั้น ทำให้บรรดาผู้ส่งออกแอลเอ็นจีรายอื่นๆ นอกสหรัฐคาดว่าจะปรับขึ้นราคาแอลเอ็นจีที่ส่งออกไปจีน ซึ่งมีแนวโน้มนำเข้าแอลเอ็นจีมากขึ้น เพราะเป็นช่วงดีมานด์พลังงานพีกในฤดูหนาว โดย แมคเคนซี คาดการณ์ว่า จีนจะต้องซื้อแอลเอ็นจีในตลาดสปอตเพิ่มอีกประมาณ 8 ล้านตัน เพื่อพยายามอุดช่องปริมาณแอลเอ็นจี ที่หายไปจากสหรัฐ

จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้ผู้ส่งออกแอลเอ็นจีต้องเพิ่มราคาแอลเอ็นจีทั่วเอเชียให้ขึ้นตามมาอย่างไม่อาจ หลีกเลี่ยงได้

ราคาแอลเอ็นจีไม่เพียงพุ่งขึ้นเพราะดีมานด์จากจีนทะยานเท่านั้น ความต้องการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มของจีนยังเกิดขึ้นขณะที่ซัพพลายในตลาดกำลังหดตัวลงในอนาคต หลังบรรดาผู้ส่งออกแอลเอ็นจีจากออสเตรเลีย เพิ่งทำข้อตกลงกับรัฐบาลในการเพิ่มการจำหน่ายแอลเอ็นจีภายในประเทศมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาพลังงานในประเทศไม่เพียงพอ

บริษัทพลังงาน เอส แอนด์ พี โกลบอล แพลตต์ส รายงานว่า บริษัทพลังงานในรัฐควีนส์แลนด์ ทางตะวันออกของประเทศ จะต้องจำหน่ายก๊าซธรรมชาติทั้งหมดนอกสัญญาซื้อขายให้กับผู้ซื้อในประเทศก่อนจนถึงปี 2020 หมายความว่า ออสเตรเลียอาจไม่สามารถเพิ่มการส่งออกแอลเอ็นจีมา ยังเอเชียได้เหมือนช่วงก่อนหน้านี้

ออสเตรเลียนับเป็นผู้ส่งออกแอลเอ็นจีเบอร์ 2 ของโลก รองจากกาตาร์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ออสเตรเลียส่งออกแอลเอ็นจีมากถึง 52 ล้านตัน ระหว่างปี 2016-2017 คิดเป็น 2.23 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 5.18 แสนล้านบาท) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 77 ล้านตัน ในปี 2018-2019 โดยบริษัทพลังงานในรัฐควีนส์แลนด์มีกำลังการผลิตแอลเอ็นจีอยู่ที่ 25.3 ล้านตัน/ปี

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ซื้อแอลเอ็นจีจากออสเตรเลียจึงคาดว่าจะได้รับ ผลกระทบไม่น้อย ทั้งซิโนเปคจากจีน หรือปิโตรนาสจากมาเลเซีย

ท่ามกลางแนวโน้มซัพพลายจากออสเตรเลียหดตัวลง ก่อนหน้านี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เปิดเผยในรายงานภาพรวมตลาดก๊าซธรรมชาติปี 2018 ว่า ปริมาณการเปลี่ยนก๊าซเป็นของเหลว (Liquefaction Capacity) ในปี 2018 ยังลดลงมาอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2017 ที่ 4.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ไออีเอคาดการณ์ว่า ตลาดแอลเอ็นจีจะเข้าสู่ภาวะซัพพลายตึงตัวยิ่งขึ้นภายในปี 2023

สำหรับตัวเร่งปฏิกิริยาถัดมาที่ดันให้ราคาแอลเอ็นจีสูงขึ้น คือการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งพุ่งขึ้นมากว่า 25% แล้วในปีนี้ เนื่องจากความวิตกว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ อาจดันให้ราคาน้ำมันทะยานทะลุ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเอเชียแปซิฟิก จากบริษัทวิจัย ไอเอชเอส มาร์กิต อธิบายว่า สาเหตุที่ราคาแอลเอ็นจีปรับขึ้นตาม มาจากการที่สัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวผูกติดกับราคาน้ำมัน

"จากการที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เพราะมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านกำลังจะมีผลในเดือน พ.ย. สถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้ราคาสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีในเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นมา" บิสวาส กล่าว พร้อมเสริมว่า ราคาสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นมาแล้ว 17% ขณะที่ราคานำเข้าแอลเอ็นจีเฉลี่ยของจีนปรับขึ้นมา 23% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ขณะเดียวกัน ทิศทางการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ยังส่งผลให้ราคาพลังงานที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์ มีราคาแพงขึ้นสำหรับประเทศอื่นๆ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2018 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ เทียบการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์เทียบ 6 สกุลเงินหลัก ปรับขึ้นมาแล้ว 3.6%

แม้สถานการณ์ข้างต้นบ่งชี้ว่า ความปั่นป่วนทั้งหลายทั้งมวลส่งผล ต่อตลาดแอลเอ็นจี แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสซ่อนอยู่ เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นให้เอกชนในภาคอุตสาหกรรมพลังงานต้องเร่งเดินหน้าเพิ่มการลงทุน ขณะที่โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคพลังงานแพง ยิ่งขึ้นอีกครั้ง


โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
Source: Posttoday

——————————————                                                                            ———————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share