สงครามการค้ายืด ปลุกจีนตื่นลดพึ่งต่างชาติ : ในช่วงเวลานี้ หนึ่งในความเสี่ยงเขย่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก คงหนีไม่พ้นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ
ที่หลายฝ่ายมองว่าไม่น่าจะจบลงอย่างง่ายดาย แม้จะผ่านช่วงเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้ไปแล้ว และผลกระทบจากการปะทะกันของสองมหาอำนาจเศรษฐกิจ คาดว่าจะปรากฏชัดยิ่งขึ้นในปีหน้านี้
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จีน คู่ปรับหมายเลข 1 ของสหรัฐต้องเร่งงัดมาตรการต่างๆ ออกมาใช้ในช่วงที่ผ่านมานี้ เพื่อตั้งรับแรงสั่นสะเทือนต่อภาคเอกชนและเศรษฐกิจ
นอกจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์การตั้งรับเฉพาะหน้าแล้ว ศึกการค้ายังเป็นตัวกระตุ้นให้จีนต้องเดินหน้าแผนการระยะยาวอีกอย่างให้รวดเร็วยิ่งขึ้น คือการไปถึงเป้าหมายลดการพึ่งพาต่างชาติทางเศรษฐกิจ และก้าวไปสู่ "ชาติที่พึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง" โดยมีภาคเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหัวใจหลักของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ความพยายามพึ่งพาตัวเองในด้านเทคโนโลยีของจีนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ปรากฏให้เห็นกันนับตั้งแต่ปี 2015 แล้ว จากการประกาศแผนยุทธศาสตร์ "เมดอินไชน่า 2025" ที่มุ่งยกระดับ 10 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เพื่อเอาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานใหม่ (NEV) เซมิคอนดักเตอร์ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ยอดการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของจีน (อาร์แอนด์ดี) ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยไปอยู่ที่ 2.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.9 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2017 ปรับขึ้น 14% เทียบรายปี ซึ่งรอยเตอร์สคำนวณว่า ยอดอาร์แอนด์ดีของจีนอยู่ที่ 2.1% ของจีดีพี เริ่มขยับเข้ามาใกล้กับสหรัฐที่ 2.8% ของจีดีพี รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น เยอรมนีและญี่ปุ่นที่ 2.9% และ 3.3% ตามลำดับ
ขณะที่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) ได้ลงนามข้อตกลงกับธนาคารการพัฒนาแห่งชาติจีน (ซีดีบี) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนโครงการต่างๆ ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติของจีน โดย ซีดีบีตกลงให้เงิน 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.76 แสนล้านบาท) ในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ทั้งนี้ การเติบโตของภาคธุรกิจเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา ยังช่วยดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนปรับขึ้น 18% ไปอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 124 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2017 คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของจีดีพีจีน โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่เพียงเป็นกลไกใหม่ช่วยสร้างตำแหน่งงานในประเทศมากขึ้นเท่านั้น แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล ยังช่วยปูทางสู่การยกเครื่องภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ภาคเกษตรกรรม ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์ รายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ส่งสัญญาณว่าจะกลับไปชุบชีวิตบรรดารัฐวิสาหกิจอีกครั้ง ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางเยือนมณฑลแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เช่น มณฑลเฮยหลงเจียง โดยการส่งสัญญาณล่าสุดนั้น นับเป็นการบ่งบอกว่าจีนพร้อมดึงรัฐวิสาหกิจเข้ามาร่วมอยู่ในแผนการพึ่งพาตัวเองยิ่งขึ้น แม้ก่อนหน้านี้ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่อยู่ในสถานะ "ซอมบี้" หรือเป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถทำกำไรได้ก็ตามถึงการหันมาผลักดันภาคเทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่การทำให้จีนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง นับว่ามีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ทว่า ในการเดินไปสู่จุดหมายปลายทางดังกล่าวก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะขณะนี้จีนยังคงไม่สามารถกำจัดจุดอ่อนสำคัญไปได้ นั่นก็คือเรื่อง "การสร้างโนว์-ฮาว"
ถึงในปัจจุบัน จีนมีบุคลากรด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทุ่มลงทุนด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยนักศึกษาจีนด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 5 ของทั่วโลกเมื่อปี 2014 มากกว่านักศึกษาสหรัฐในด้านดังกล่าวถึง 5 เท่า ซึ่งการมีบุคลากรด้านดังกล่าวจำนวนมากจะช่วยปูทางสู่การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไป
อย่างไรก็ดี รูปแบบการสร้างโนว์-ฮาวของจีนยังคงมาจากการไปเอาเทคโนโลยีมาจากเอกชนต่างชาติที่กลุ่มทุนจีนไปซื้อกิจการมา โดยโมเดลการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นเริ่มด้วย 1.การเข้าซื้อกิจการต่างชาติเพื่อครอบครองเทคโนโลยี 2.ได้ทุนสนับสนุนอ้อมๆ จากภาครัฐหรือนักลงทุนต่างชาติ 3.ใช้ทุนดังกล่าวพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นโดยอิงกับเทคโนโลยีที่ไปซื้อมา หมายความว่า การพัฒนาดังกล่าวไม่ได้ช่วยสร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากเดิมนัก
ขณะเดียวกัน กฎหมายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (ไอพี) ที่ยังอ่อนแอของจีน ก็เป็นตัวบั่นทอนการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา
ตัวอย่างการที่ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นนั้น สะท้อนออกมาในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสำคัญ อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีต่างๆ โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า ในปัจจุบันมีผู้ผลิตชิปเพียง 16% เท่านั้น ที่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับใช้งานภายในประเทศ หมายความว่า จีนต้องพึ่งพาการนำเข้าชิปจากต่างชาติเกือบ 90% คิดเป็นประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์/ปี (ราว 6.4 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของจีนกำลังเติบโตแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบในแง่ของเทคโนโลยีแล้ว เทคโนโลยีอีวีของจีนยังตามหลังชาติอื่นๆ อยู่อีกมาก โดยเซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์ รายงานว่า รถอีวีสัญชาติจีนส่วนใหญ่วิ่งได้ไม่ถึง 300 กิโลเมตร/การชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งยังห่างไกลจากรถอีวีของเทสลา ผู้ผลิตอีวีสัญชาติสหรัฐ ที่วิ่งได้ 500 กิโลเมตร/การชาร์จ 1 ครั้ง โดยสมรรถนะที่ต่ำกว่า มาจากเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ยังไม่ดีพอเทียบเท่าคู่แข่งต่างชาติ
แม้เมื่อดูจากหลักไมล์ปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนได้เดินมาไกลมากแล้ว แต่ในการก้าวไปสู่การพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้นยังคงอีกยาวไกล เพราะจีนยังจำเป็นต้องขจัดจุดอ่อนมากมายที่ยังมีอยู่ ขณะที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีเวลาอีกนานเท่าใดในการดำเนินการดังกล่าว ท่ามกลางความเสี่ยงนานัปการที่คืบคลานเข้ามาใกล้ขึ้นทุกที
โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
Source: Posttoday
—————————————— ———————————————
ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้