สงครามการค้าเห็นผล หุ้นโลกเสี่ยงยาว: เมื่อครั้งที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เป็นตัวนำการดิ่งโดยปิดลบไปกว่า 800 จุด เมื่อวันที่ 10 ต.ค. จนสร้างความหวาดผวาให้ตลาดหุ้นทั่วโลกนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนยังไม่เชื่อว่าจะเป็นจุดสิ้นสุดของภาวะตลาดกระทิงในสหรัฐที่วิ่งต่อเนื่องมายาวเกือบ 10 ปี แต่เป็นเพราะปัจจัยผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีที่ขึ้นไปสูงมากและเป็นเพียงการ ปรับฐานลงมาเท่านั้น

ทว่าผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ นักลงทุนก็ต้องเจอภาวะซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อดาวโจนส์ปิดลบไป 608.0 จุด หรือ 2.41% เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ตามมาด้วยเอสแอนด์พี 500 ปิดลบ 84.59 จุด หรือ 3.09% และแนสแด็ก คอมโพสิต ปิดลบ 329.1 จุด หรือ 4.43%

ที่สำคัญก็คือ การลงต่อเนื่องครั้งนี้กำลังทำให้สิ่งที่ ดาวโจนส์และ เอสแอนด์พี 500 บวกมาตลอดทั้งปี 2018 "หายวับไปกับตา" ซึ่งเฉพาะในเดือน ต.ค.นี้เพียงเดือนเดียว (ถึงวันที่ 24 ต.ค.) ดาวโจนส์ร่วงไปแล้ว 7.1% เอสแอนด์พี 500 รวม 8.9% และ แนสแด็ก 11.7% โดยรายหลังนี้ หากนับจากราคาปิดตลาดที่ทุบสถิติ ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 29 ส.ค. จะเท่ากับว่าลบไปทั้งสิ้น 12.4%

ปัจจัยลบครั้งล่าสุดนี้ไม่ได้มาจากเรื่องดอกเบี้ยบอนด์ยีลด์เหมือนครั้งที่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน เพราะผลกระทบจาก "สงคราม การค้า" เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างเป็น รูปธรรมในช่วงไตรมาส 4 อย่างที่เคย คาดการณ์กันเอาไว้แล้ว

หลายบริษัทเริ่มออกมาทยอยส่งสัญญาณข่าวร้ายของผลประกอบการไตรมาส 4 กันในสัปดาห์นี้ เพราะ

ปัญหาการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ไปจนถึงผลพวงอื่นๆ ของสงครามการค้า กำลังกดดันให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้น เช่น บริษัท 3M ที่คาดการณ์ว่าต้นทุน ปีนี้จะแพงขึ้นประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ (ราว 657 ล้านบาท) และ 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,289 ล้านบาท) ในปีหน้า ทำให้บริษัทต้องปรับลดคาดการณ์รายได้ปี 2018 ลง จนฉุดให้ราคาหุ้นปิดตลาดดิ่งลง 4.4% เมื่อวันที่ 23 ต.ค.

ส่วนบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักร รายใหญ่ แคทเทอร์พิลลาร์ คาดการณ์ว่า ภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 100-200 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,290-6,580 ล้านบาท) ทำให้บริษัทต้องคงคาดการณ์รายได้ปี 2018 เท่าเดิม จากเดิมที่ขึ้นคาดการณ์มาก่อน 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้หุ้นปิดลบไปถึง 7.6% ส่วนฮาร์เลย์ เดวิดสัน ปิดลบไป 2.2% เพราะยอดขายในไตรมาส 3 ปีนี้ที่น้อยลงจากปีก่อน และล่าสุดเมื่อวานนี้คือ 2 บริษัทผู้ผลิตชิป เทกซัส อินสตรูเมนต์ส และเอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกมาเตือน ผลประกอบการปีนี้เช่นกัน

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับ ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกรายงานประเมินสภาพเศรษฐกิจรายไตรมาส หรือเบจบุ๊ก ล่าสุดที่ระบุว่า การขึ้นภาษีการค้าต่างๆ กำลังทำให้ต้นทุนโรงงานผลิตต่างๆ ในสหรัฐพุ่งสูงขึ้น

นอกจากสงครามการค้าที่จะเริ่มหันมาส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตอเมริกันแล้ว นักลงทุนก็ยังให้น้ำหนักกับปัจจัยเสี่ยงอีกหลายด้านที่รายล้อม อาทิ เศรษฐกิจจีน ซาอุดิอาระเบีย น้ำมันโลกกับการคว่ำบาตรอิหร่าน ตลาดการเงินโลกที่ตึงตัว ไม่เว้นแม้แต่ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐเดือน ก.ย. ที่ลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี ซึ่งยิ่งดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ก็อาจยิ่ง กดดันตลาดอสังหาฯ ในสหรัฐ หลังจากนี้อีก

จึงไม่น่าแปลกใจที่ดัชนีชี้วัดความเสี่ยง VIX จะขยับขึ้นถึง 4.52 จุด ไปอยู่ที่ 25.23 จุด หรือสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดสหรัฐเคยดิ่งลงครั้งใหญ่ช่วงสั้นๆ มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม โจอาคิม เฟลส์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจโลกของบริษัทจัดการการลงทุนพิมโก ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์กว่า ภาวะตลาดหุ้นที่กำลังผันผวนหนักเช่นนี้ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ภาวะตลาดหมี แต่เป็นการปรับฐาน (ที่ดี) ในวัฏจักรปกติเท่านั้น ซึ่งพื้นฐานสหรัฐยังแข็งแกร่ง

ทว่าสหรัฐเองก็ยังมีอีกความเสี่ยงหนึ่งที่รออยู่และยังคาดการณ์ไม่ได้เช่นกัน กับการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ ในวันที่ 6 พ.ย. ว่าทรัมป์และรัฐบาลพรรครีพับลิกันจะยังครองเสียงส่วนใหญ่ได้มากน้อยเพียงไหน และการพบกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งจะเป็นการเจรจานอกรอบระหว่างการประชุมสุดยอด จี20 ในปลายเดือนหน้า จะช่วยบรรเทาศึกพิพาทการค้าได้ เพียงใด ซึ่งหากยังไม่มีความคืบหน้า ผลกระทบจากสงครามการค้าที่เริ่มเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ ก็จะยิ่งเลวร้ายและขยายวงกว้างไปอีกในปีหน้า

แม้แต่ ลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ยังให้ความเห็นว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะแข็งแกร่ง แต่หากต้องเผชิญกับภาวะปั่นป่วนในตลาดหุ้นที่ลงแบบนี้ต่อเนื่องไปอีกระยะ ก็อาจจะย้อนกลับมากระทบเศรษฐกิจพื้นฐานของอเมริกาเองได้เช่นกัน

แต่ฝ่ายที่เจ็บหนักกว่าอาจเป็นฝั่ง "เอเชีย" ที่เจอหลายเด้งมากกว่าสหรัฐ ทั้งในแง่สงครามการค้าในฐานะซัพพลายเชน ในแง่ที่เศรษฐกิจพื้นฐานอาจไม่ได้แกร่งเท่า และในแง่ของทุนไหลออกที่กำลังกดดันทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้

บลูมเบิร์ก ระบุว่า ภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนส่งผลให้มูลค่าของตลาดหุ้นในเอเชียหายไปแล้วมากกว่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 นี้ นำโดยเอ็มเอสซีไอเอเชีย-แปซิฟิก ที่ลงไปแล้ว 22 จุด นับตั้งแต่ระดับพีกในเดือน ม.ค. ส่วนนิกเกอิ 225 ลงไปราว 3.5% และดัชนีโทปิกซ์ ลงไป 2.9% นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2017 ด้านตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ดัชนีคอมโพสิต 100 ก็ลงไป 2.6% เข้าสู่ดินแดนตลาดหมีแล้ว รับกับจีดีพีเกาหลีไตรมาส 3 ที่แย่กว่าคาด

ส่วนตลาดหุ้นจีนนั้นหนักที่สุดกว่าทุกราย จนมีรายงานว่ารัฐบาลต้องตั้งเรียกทีมฉุกเฉินที่เคยรับมือกับวิกฤตตลาดหุ้นจีนมาก่อน มารับมืออีกครั้ง และมีการออกมาตรการกระตุ้นแบบทุกทิศทางทั้งการเงิน การคลัง และมาตรการพยุงตลาดหุ้น ในขณะที่ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดฮ่องกง ลงไปถึง 10% แล้วเฉพาะในเดือน ต.ค.นี้ และน่าจะเปิดการปิดลบเดือนที่ 6 ติดต่อกัน หรือแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา

แม้หลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าตลาดหุ้นยังไม่น่าจะเกิดวิกฤตขึ้นในเร็วๆ นี้ และยังมีจังหวะให้ขึ้นหรือทำกำไรไปได้อีกพักใหญ่ ซึ่งผลประกอบการหลายบริษัทก็ออกมาดีเกินคาด แต่ระดับความเสี่ยงที่ก่อตัวเพิ่มขึ้นและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจทำให้หุ้นโลกที่ดีมาต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 ต้องมาถึงบททดสอบสุดผันผวน ที่อาจปั่นป่วนยิ่งขึ้นอีกหลังจากนี้ไป


โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday

——————————————                                                                            ———————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

 

0 Share