อนาคตเบร็กซิท ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรค แม้ว่านาง เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะ รอดพ้นจากการการลงมติไม่ไว้วางใจภายในพรรคอนุรักษ์นิยมแล้วก็ตาม เนื่องจากอนาคตทางการเมืองของเธอนับจากนี้ไปถือว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ที่สำคัญ แผนการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปน่าจะต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ ด้วยเช่นกัน
หลังรอดพ้นอุปสรรคทางการเมือง ครั้งนี้ นางเมย์ ยืนยันว่า เธอจะเดินหน้างานด้านเบร็กซิทต่อไป แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเธอ ทั้งกลุ่มต่อต้านการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) และกลุ่มนิยมอียู แสดงจุดยืนที่คล้ายกัน ว่าการที่เธอรอดพ้นการลงมติไม่ไว้วางใจภายในพรรคไม่ได้ช่วยให้แผนเบร็กซิทของเธอมีอนาคตที่สดใสขึ้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ที่ต่อต้าน การเป็นสมาชิกอียูต้องการเห็นเงื่อนไข ที่ช่วยอังกฤษตัดขาดจากสหภาพยุโรปอย่างชัดเจน ส่วนผู้ที่อยากให้อังกฤษยังคง เป็นสมาชิกอียู มีความไม่พอใจเบร็กซิทเป็น ทุนเดิมอยู่แล้ว แต่หากพิจารณาผลโหวต ไว้วางใจเธอ 200 เสียงต่อ 117 เสียงที่ต้องการ ถอนเธอออกจากการเป็นผู้นำพรรค ทำให้พอจะสรุปได้ว่า นางเมย์มีผู้ต่อต้านในพรรค ของเธอเองกว่าหนึ่งในสามด้วยกัน
ส่วนพรรคสหภาพประชาธิปไตย (Democratic Unionist Party) ของไอร์แลนด์เหนือ ที่ร่วมรัฐบาลของนายก รัฐมนตรีเมย์ ก็ส่งสัญญาณเตือน ที่คล้ายกับคนในพรรคอนุรักษ์นิยมของเธอที่คัดค้านแผนเบร็กซิท โดยพรรคนี้ต่อต้านแผน เบร็กซิททุกรูปแบบที่จะทำให้ ไอร์แลนด์เหนือถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากเขตอธิปไตยอื่นๆของอังกฤษ เพราะเกรงว่าจะทำให้สายใยระหว่างเขตไอร์แลนด์เหนือและรัฐบาล กรุงลอนดอนอ่อนแอลง แม้ตลอดเวลา ที่ผ่านมา นางเมย์จะพยายามจูงใจให้ผู้นำพรรคนี้คือนางอาร์ลีน ฟอสเตอร์ เลิกต่อต้าน แผนเบร็กซิทก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นางฟอสเตอร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในเรื่องย่อยๆ ในแผนเบร็กซิทคงไม่เพียงพอ เพราะเธอต้องการเห็นการแก้ไขที่รากฐานของแนวทาง การออกจากอียู
แผนเบร็กซิทปัจจุบัน พยายามประสานความต้องการของผู้ที่ต้องการให้อังกฤษ อยู่ต่อในอียูและผู้อยากเห็นการตัดขาดอย่างสิ้นเชิงจากอียู แต่ผลก็คืออังกฤษ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขศุลกากรร่วมกับอียูไปก่อน จนกว่าการเจรจาเบร็กซิท จะนำไปสู่การออกจากอียูอย่างถาวร
ประเด็นสำคัญคือภายใต้ร่างเบร็กซิทปัจจุบัน ยังไม่เกิดความชัดเจนเรื่อง การค้าเสรีระหว่างอังกฤษและอียู และ ภายใต้สภาพดังกล่าว อังกฤษจะไม่สามารถมีบทบาทต่อการออกกฎหมายของอียู และกำหนดมาตรฐานสินค้า ซึ่งมีผลผูกพันกับอังกฤษ ทั้งยังไม่สามารถมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศนอกอียูด้วย
ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเมย์ เลื่อนการ ลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากรู้ดีว่า ส.ส.อังกฤษจะลงมติไม่รับร่างแผนเบร็กซิทปัจจุบัน หากแนวทางเบร็กซิทไม่ผ่านการลงมติ อาจส่งผลให้เธอหลุดจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และอาจนำไปสู่การหมดอำนาจของพรรคอนุรักษ์นิยมในการบริหารประเทศ รวมถึงการยุบสภา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. หลังเสร็จสิ้น การประชุมสุดยอดอียูแล้ว นายกรัฐมนตรี เมย์ บอกว่า ยังพอมีหวังที่จะได้เสียง สนับสนุนจากสส.มากพอเพื่อผ่านความเห็นชอบข้อตกลงเบร็กซิทที่เธอตกลงกับอียูไว้ แม้แกนนำอียูยืนยันไม่เปิดเจรจาอีกก็ตาม
นายกรัฐมนตรีเมย์ กล่าวว่า มีหลายอย่าง ที่ต้องทำและจะเดินหน้าหารือเพื่อทำให้เกิดความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากถูกนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปติว่า แทนที่จะขอให้อียูบอก ความต้องการ อังกฤษควรเป็นฝ่ายบอกมากกว่า เพราะมีแต่ความคลุมเครือและยุ่งเหยิง
นางเมย์ ไปร่วมประชุมสุดยอดเพื่อขอให้อียูประนีประนอมเพิ่มเติม หลังจากเธอตัดสินใจเลื่อนการลงมติข้อตกลง เบร็กซิทในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอังคาร (11ธ.ค.)ออกไปอย่างกะทันหันเพราะ คาดว่า จะถูกคว่ำอย่างแน่นอน แต่อียูออกแถลงการณ์ร่วมตั้งแต่วันพฤหัสบดี (6ธ.ค.)ยืนยันตามข้อตกลงเดิม และจะไม่เปิดการเจรจาใหม่ ขณะที่ ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยม เปิดลงมติไม่วางใจเธอในฐานะหัวหน้าพรรค แต่เธอรอดด้วยคะแนน 200 ต่อ 117 เสียง คิดเป็นสัดส่วน 63% ต่อ 37%
ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมจำนวนมากห่วงเรื่องแบ็คสต็อป ที่นางเมย์ตกลงกับอียูว่า จะไม่เข้มงวดพรมแดนไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร(ยูเค) ที่ติดกับไอร์แลนด์ หนึ่งในสมาชิกอียู เท่ากับทำให้ ยูเค ต้องผูกอยู่กับระเบียบของอียูต่อไป และไม่มีอิสระในการทำข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่น
Source: กรุงเทพธุรกิจ
เพิ่มเติม
- May’s Delays Are Making Brexit Worse
https://www.bloomberg.com/…/theresa-may-s-brexit-delays-do-…
ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก