จีนตั้งเป้าเป็นมหา อำนาจโลกทางด้านเทคโนโลยีให้ได้ภายในปี 2025 โดยรัฐบาลมีแผนอัดฉีดงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 แขนง เป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อนโยบาย เมด อิน ไชน่า 2025 (Made in China 2025)

เพื่อไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติอีกต่อไป แต่นโยบายดังกล่าวก็ถูกเตะตัดขาโดยสหรัฐอเมริกา ที่หวั่นเกรงว่าความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยี ของจีนจะทำให้สหรัฐฯต้องพบกับความสูญเสียทั้งในแง่เศรษฐกิจและความมั่นคง การรณรงค์ให้นานาประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯเลิกใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเป็นความภาคภูมิใจของจีนที่กำลังรุกสร้างเครือข่ายการสื่อสารไร้สายความเร็วสูงระดับ 5G ไปทั่วโลกในเวลานี้ เป็นเพียงปฐมบทของการต่อสู้ทางด้านเทคโนโลยีที่ กำลังเกิดขึ้น มะกันกดดันทุกรูปแบบ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ พยายามเพิ่มแรงกดดันด้วยการตั้งกำแพงภาษีสกัดกั้นสินค้าจีน โจทย์ใหญ่จึงตกเป็นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่จะต้องหาวิธีเจรจารอมชอมเพื่อลดแรงกดดันทางการค้าและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจจีนเดินหน้าต่อไปแม้ในอัตราที่ลดน้อยลงก็ตาม และที่สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะสามารถเดินหน้านโยบาย Made in China 2025 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว ได้ต่อไปท่ามกลางการต่อต้านของสหรัฐฯ จุดยืนดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดว่า ผู้นำจีนยอมถอยบางส่วนในแนวรบด้านการค้า เช่น ยอมลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ และเพิ่มการซื้อสินค้าเกษตรที่สำคัญจากสหรัฐฯ อาทิ ข้าวโพดและถั่วเหลือง แต่ไม่เคยส่งสัญญาณใดๆ ว่าจะพิจารณาทบทวนหรือติดเบรกให้กับนโยบาย Made in China 2025

ย้อนกลับไปในปี 2015 พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศแผน 10 ปีที่มุ่งเป้าพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศหลากแขนงโดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยานและอุปกรณ์การแพทย์ที่นำสมัย แต่เป้าหมายการสร้างห่วงโซ่การผลิตของทั้งอุตสาหกรรมแบบพึ่งพาตนเองได้นั้นกลับสร้างความกังวลใจให้กับบรรดาบริษัทต่างชาติที่กลัวจะต้องเผชิญการแข่งขันจากบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น และรัฐบาลของหลายประเทศก็หวั่นเกรงว่าศักยภาพทางเทคโนโลยีของจีนอาจเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) เคยเอ่ยปากออกมาตรงๆเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้ (10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย) หากจีนสามารถครองตลาดโลก นั่นก็เป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับสหรัฐอเมริกา ไม่ถอย แต่อาจยอมปรับ

จีนเองรู้ดีว่าการที่สหรัฐฯกล่าวโทษจีนว่ามีพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรมหรือแม้กระทั่งข้อกล่าวหาว่าจีนขโมยเทคโนโลยีของต่างชาตินั้น เป้าหมายก็เพื่อเล่นงานนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งเป็นนโยบายไต่บันไดดาวสู่การเป็นมหาอำนาจโลกทางด้านเทคโนโลยีในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น ในระยะหลังๆ นี้ จีนพยายามทำให้นโยบายดังกล่าวไม่เป็นจุดสนใจ แต่สิ่งที่จีนทำไม่ใช่เป็นการ "ถอย" ทว่าเป็นการ "ปรับ"เพื่อลดทอนแรงเสียดทาน เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อใหญ่อย่างเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ได้รายงานข่าวว่า จีนกำลังร่างแผนที่มีการปรับใหม่เปิดทางให้บริษัทต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมของจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งรายละเอียดของร่างใหม่ดังกล่าวคาดว่าจะมีการเผยแพร่ให้ได้เห็นกันช่วงต้นปีหน้า (2562)

วันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 40 ปีของการ ปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ชี้ว่า จีนจะยังคงเดินหน้าและยึดมั่นต่อนโยบายที่วางเอาไว้แม้ว่าจะมี แรงกดดันจากภายนอกที่ต้องการให้จีนเปิดกว้างระบบเศรษฐกิจให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันมากขึ้นและเรียกร้องให้จีนลดการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภายในประเทศ "ไม่มีใครสามารถชี้นิ้วสั่งว่าอะไรที่คนจีนควรทำหรือไม่ควรทำ" ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลง 80 นาทีของผู้นำจีนระบุ สะท้อนชัดเจนว่าจีนไม่ใส่เกียร์ถอยนโยบาย Made in China 2025 (โดยพยายามไม่กล่าวถึงและไม่เอ่ยชื่อนโยบายนี้ออกมา) แต่อาจจะมีการปรับแก้ไขซึ่งหลายฝ่าย รวมทั้งหอการค้าอเมริกันในจีน หวังว่าจะเป็นการแก้ไขเพื่อให้บริษัทต่างชาติมีโอกาสที่จะแข่งขันในอุตสาหกรรมเป้าหมายของจีนมากยิ่งขึ้น

Source: ฐานเศรษฐกิจ


ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก


 

0 Share