ศึกการค้าป่วนโลกตลอดปี 2018 นี้ ไม่ใช่เพียงการขึ้นสังเวียนระหว่างมวยคู่เฮฟวีเวตอย่าง "สหรัฐ" และ "จีน" เท่านั้น แต่ยังลากเอาอีกหลายประเทศทั่วโลกเข้ามาอยู่ในศึกการค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากการค้ากับจีนและสหรัฐอีกทอดหนึ่ง หรือผลกระทบทางตรงจากการเป็นคู่กรณี
เพราะแม้จะเป็นประเทศพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกันมานาน หรือมีความจำเป็นด้านการรักษาดุลอำนาจในภูมิภาคอื่นๆ แต่สหรัฐ ก็สามารถลากเอาประเทศพันธมิตรเหล่านี้มาเป็นขั้วตรงข้ามได้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป (อียู)
ที่ผ่านมา สหรัฐกดดันมิตรให้กลายเป็นศัตรู(ชั่วคราว) ด้วยการขู่จะขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้า ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหัวใจหลักของประเทศเหล่านี้โดยตรง เพื่อกดดันให้ประเทศเหล่านี้ต้องเจรจาความตกลงการค้าใหม่ให้สหรัฐได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม และที่จริงสหรัฐเริ่มมีสัญญาณกดดันทางค้ามาตั้งแต่ปีแรกที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งในปี 2017 แล้ว ภายใต้ยุทธศาสตร์ อเมริกา เฟิร์สต์
จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศจะรับรู้ "ความเสี่ยง" เหล่านี้มาตั้งแต่เนิ่นๆ และมีการเร่งเดินหน้าเตรียมตัวตั้งรับ จนนำไปสู่การออก ข้อตกลงการค้าระดับ "เมกะดีล" 2 ฉบับ ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2019 นี้เป็นต้นไป ทั้งข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี และแบบพหุภาคี ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังไม่รู้จะออกหัว หรือออกก้อย และยังไม่รู้ว่าจะมีเซอร์ไพรส์อะไรออกมาอีกหรือไม่ในอีก 2 ปีที่เหลือของการดำรงตำแหน่งของผู้นำสหรัฐ
ข้อตกลงแรกที่เริ่มมีผลบังคับใช้ส่วนหนึ่งไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. ก็คือ ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) หรือชื่อเดิมว่า ทีพีพี ซึ่งจะมีผลยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าประมาณ 95% ของชาติสมาชิกทั้งหมด 11 ชาติ โดยเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมประชากรมากกว่า 500 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 13% ของจีดีพีโลก และนับเป็นข้อตกลงการค้าเสรีพหุภาคีฉบับแรกที่เริ่มมีผลในปี 2019
ซีพีทีพีพีเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อนกับ 6 ชาติภาคีสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโก และสิงคโปร์ก่อน เนื่องจากมีการให้สัตยาบันรับรองกันไปแล้ว ส่วนเวียดนามจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 14 ม.ค. 2019 ขณะที่ บรูไน ชิลี มาเลเซีย และเปรู จะเริ่มต้นภายใน 60 วัน หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการให้สัตยาบัน
ก่อนหน้านี้ CPTPP เคยออกอาการง่อนแง่นเมื่อสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ ประกาศถอนตัวออกจาก ข้อตกลงเมื่อเดือน ม.ค. 2017 หรือเป็นภารกิจแรกๆ ของทรัมป์นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนเดียวกัน ทั้งที่ 12 ชาติภาคีสมาชิกซึ่งรวมถึงสหรัฐ ลงนามข้อตกลงทีพีพีกันไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ. 2016 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ส่งผลให้ข้อตกลงนี้เกิดภาวะไม่แน่นอน เพราะบางชาติสมาชิกรู้สึกลังเลเมื่อไม่มีตลาดใหญ่ที่สุดเบอร์ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ รวมอยู่ด้วย
ทว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลใหม่สหรัฐ ที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปสู่การใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) ภายใต้ยุทธศาสตร์อเมริกามาก่อน จึงทำให้ประเทศสมาชิกที่เหลือ 11 ชาติ นำโดยญี่ปุ่น เห็นพ้องที่ต้องขับเคลื่อนทีพีพีต่อไป เพื่อเป็นกลไกรับมือกับความเสี่ยงทางการค้าในอนาคต จึงนำไปสู่การเจรจาอีกหลายครั้งตามมา และได้ข้อสรุปเรื่องการปรับแก้ไขความตกลง ทีพีพีบางส่วนไปเป็นข้อตกลงใหม่ในชื่อ CPTPP เมื่อเดือน พ.ย. 2018 กระทั่งนำไปสู่การลงนามและการให้สัตยาบันของสมาชิกกลุ่มแรกในที่สุด
นอกจากข้อตกลงการค้าพหุภาคีแรกแห่งปี 2019 แล้ว ก็ยังมี "ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ญี่ปุ่น-อียู" ซึ่งจะเป็นข้อตกลงการค้าทวิภาคีฉบับแรก ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2019 นี้เช่นกัน หรือตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นข้อตกลงครอบคลุมประชากร 600 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก
ญี่ปุ่นและอียูนั้นเริ่มการเจรจา เอฟทีเอดังกล่าวมานานถึง 4 ปีแล้ว แต่ความคืบหน้ามาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในภายหลังตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา เพราะปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจากทรัมป์
วอลสตรีทเจอร์นัล ระบุว่า หลังจากที่มีการเจรจากันอย่างเป็นทางการเพียงรอบเดียวในเดือน เม.ย. 2017 ผู้นำทั้งสองฝ่ายที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ และฌอง โคลด ยุงเกอร์ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ก็ได้ประกาศบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ในเดือน ก.ค. 2017 โดยต้องการเร่งสรุปผลให้ทันก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ จี20 ที่เยอรมนี ในเดือนถัดมา เพื่อส่งสัญญาณโดยตรงไปถึงสหรัฐว่า ประเทศอื่นๆ จะไม่ยอมทนรับการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่มีการผนึกกำลังกันเพื่อรับมือโดยตรงด้วย
ฝั่งญี่ปุ่นนั้นเป็นชาติหนึ่งที่ถูกสหรัฐกดดันหนักไม่แพ้พันธมิตรชาติอื่นๆ โดยเฉพาะการกดดันให้เปิดตลาดสินค้าเกษตร และยังอาจรวมถึงการบังคับให้ลงนามห้ามลดค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการส่งออก ซึ่งทางฝั่งญี่ปุ่นต้องเตรียมความพร้อมรับด้วยว่า หากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐกับจีนอ่อนลงในปีนี้ สหรัฐอาจหันไปบีบชาติอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น มากขึ้นแทน
ส่วนฝั่งยุโรปเองก็เผชิญแรงกดดันหนักไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะจากกรณี เบร็กซิต ที่สหราชอาณาจักรจะ ถอนตัวออกจากอียู โดยมีกำหนด เส้นตายในเดือน มี.ค. 2019 นี้แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีวี่แววว่ารัฐสภาอังกฤษจะผ่านมติรับรองแผนที่อังกฤษตกลงกับอียูแล้วออกมา นอกจากนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ประปราย ทั้งรัฐบาลฝ่ายขวาของอิตาลี หรือเยอรมนีที่กำลังจะไร้เงานายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เกิล ในอีกไม่กี่ปีนี้ และที่สำคัญก็คือ ความเสี่ยงกับสหรัฐเอง โดยเฉพาะภาษีรถยนต์กับชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้า ที่สหรัฐเพียงแค่ผ่อนผันให้อียูกับพันธมิตรบางชาติเท่านั้น แต่ยังไม่ได้ยกเลิกไปอย่างถาวร และพร้อมที่จะ ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างกดดันใหม่ได้
ภายใต้ความเสี่ยงทั้งทางตรง และทางอ้อมที่ยังไม่จบลงง่ายใน เร็วๆ นี้ การผุดดีลการค้าขึ้นมารับมือ ในยุคความผันผวนปี 2019 จึงเป็น ทั้งความจำเป็นและทางออกที่ต้องจับตาความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดกัน ต่อไปในปีนี้
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday
เพิ่มเติม
- CPTPP could be a strong trading partner for China
http://www.globaltimes.cn/content/1134261.shtml