rare earth

ความเคลื่อนไหวในสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ยังคงต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีสัญญาณเตือนจากสื่อแดนมังกรว่ารัฐบาลปักกิ่งอาจใช้ "แรร์เอิร์ธ" เป็นอาวุธใหม่เล่นงานสหรัฐฯ

ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่าจีนอาจยกเหตุผลด้านความมั่นคงมาเป็นข้ออ้างเช่นเดียวกับตอนที่อเมริกาสั่งแบน "หัวเว่ย"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตแรร์เอิร์ธแห่งหนึ่ง จนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่าจีนอาจจะใช้สถานะผู้ควบคุมซัปพลายแรร์เอิร์ธของโลกงัดข้อกับสหรัฐฯ ในสงครามการค้า

คำว่า "แรร์เอิร์ธ" หมายถึงองค์ประกอบทางเคมี 17 ชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สารพัดอย่าง ตั้งแต่อุปกรณ์ไฮเทคสำหรับผู้บริโภค เช่น สมาร์ทโฟน กล้อง หลอดไฟ เรื่อยไปจนถึงยุทโธปกรณ์ทางทหาร

แนวโน้มที่มูลค่าแรร์เอิร์ธจะพุ่งสูงขึ้นจากพิษสงครามการค้าส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตหลายรายดีดตัวขึ้นตามๆ กัน โดยเฉพาะโรงงานแรร์เอิร์ธในจีนที่ สี เดินทาง ไปชม

แม้จีนจะยังไม่เคยประกาศตรงๆ ว่ามีแผนจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธไปยังสหรัฐฯ แต่สื่อชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์ก็เตือนด้วยถ้อยคำแข็งกร้าวว่ามาตรการนี้กำลังถูกพิจารณาอย่างจริงจัง

หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีลงบทบรรณาธิการที่พาดหัวอย่างดุเดือดว่า "สหรัฐฯ อย่าประเมินความสามารถในการตอบโต้ของจีนต่ำเกินไป" พร้อมเตือนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า อุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรร์เอิร์ธจากจีน

"แรร์เอิร์ธจะกลายเป็นอาวุธที่จีนใช้ตอบโต้มาตรการกดดันที่ไร้เหตุผลของสหรัฐฯ หรือไม่ คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว" พีเพิลส์เดลี ระบุและว่า "สหรัฐฯ พยายามเอาสินค้าซึ่งผลิตจากแรร์เอิร์ธที่นำเข้าจากจีนมาปิดกั้นการพัฒนาของจีน ประชาชนชาวจีนยอมรับไม่ได้"

"เราขอเตือนสหรัฐฯ ว่าอย่าได้ดูถูกความสามารถของจีนในการปกป้องสิทธิด้านการพัฒนาและผลประโยชน์ของเราเอง... แล้วอย่าหาว่าไม่เตือน"

วลีอมตะนี้เคยถูกใช้ข่มขู่ประเทศคู่ขัดแย้งของจีนมาแล้วหลายครั้งหลายหน เช่นตอนที่ข้อพิพาทพรมแดนจีนอินเดียปะทุหนักในปี 2017 และก่อนที่จีนจะส่งทหารรุกรานเวียดนามในปี 1978

ด้านโกลบัลไทมส์ซึ่งเป็นสื่อแท็บลอยด์ในเครือเดียวกันก็ระบุเมื่อวันพุธ (29 พ.ค.) ว่า การแบนส่งออกแรร์เอิร์ธ "จะเป็นอาวุธที่ทรงพลัง หากถูกนำมาใช้ในสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ" และถึงแม้ปักกิ่งจะสูญเสียรายได้จากการ ส่งออกไปบ้าง แต่ฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบหนักหน่วงยิ่งกว่าก็คือ สหรัฐอเมริกา

จีนใช้การส่งออกแรร์เอิร์ธเป็นเครื่องมือต่อรองทางการทูตมาแล้วหลายครั้ง ตัวอย่างเช่นในปี 2010 ที่จีนประกาศหั่นโควตาส่งออกแรร์เอิร์ธให้ญี่ปุ่น หลังเกิดกรณีเรือประมงอวนลากของจีนเฉี่ยวชนกับเรือยามฝั่งญี่ปุ่น 2 ลำใกล้หมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนตะวันออกที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างอธิปไตย

ต่อมาในปี 2012 ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้ร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องที่จีนจำกัดโควตาส่งออกแรร์เอิร์ธ ซึ่ง WTO ได้มีคำตัดสินอีก 2 ปีต่อมาว่า จีนละเมิดกฎเกณฑ์การค้าเพื่อเป้าหมายด้านอุตสาหกรรมมากกว่าห่วงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือความจำเป็นในการอนุรักษ์ จนท้ายที่สุดจีนต้องยอมยกเลิกระบบโควตาส่งออกแรร์เอิร์ธไปโดยปริยาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจีนระบุว่า การจำกัดส่งออกแรร์เอิร์ธถือเป็นวิธีแก้แค้นแบบตาต่อตา-ฟันต่อฟัน และปักกิ่งอาจยกเรื่องความมั่นคงของชาติมาเป็นข้ออ้าง เช่นเดียวกับตอนที่สหรัฐฯ สั่งแบน หัวเว่ย เทคโนโลยี

รัฐบาลจีนกล่าวโทษสหรัฐฯ ว่าละเมิดหลักเกณฑ์สากล หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งบริหารห้ามไม่ให้หน่วยงานในสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย และยังสั่งขึ้นบัญชีดำบริษัทโทรคมนาคมจีนแห่งนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตในอเมริกาไม่สามารถจำหน่ายชิ้นส่วนไฮเทคที่จำเป็น หรือแชร์เทคโนโลยีต่างๆ กับหัวเว่ยได้

สหรัฐฯ เกรงว่าอุปกรณ์ไฮเทคของหัวเว่ยอาจถูกจีนใช้เป็นเครื่องมือสอดแนม และเรียกร้องให้พันธมิตรพร้อมใจกันกีดกันหัวเว่ยออกจากโครงการพัฒนาเครือข่ายไร้สาย 5G

ความวิตกกังวลของสหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อหัวเว่ยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม และยังขึ้นแท่นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มียอดขายมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากซัมซุง

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเองก็พยายามขัดขวางไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เช่น กูเกิลและเฟซบุ๊ก เข้าไปดำเนินธุรกิจในแดนมังกรเช่นกัน และภาคธุรกิจบางส่วนของอเมริกาก็สนับสนุนให้รัฐบาลมีมาตรการตอบโต้บ้าง

ราคาหุ้นบริษัท เจแอล แม็ก แรร์เอิร์ธ จำกัด ที่ประธานาธิบดี สี ไปเยี่ยมชมโรงงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วขยับขึ้น 10% จนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (29) โดยเฉพาะเดือนนี้ปรับเพิ่มแล้วถึง 134.1% ขณะที่บริษัท ไชน่า แรร์เอิร์ธ โฮลดิงส์ จำกัด ก็มีราคาหุ้นพุ่งขึ้นกว่า 40% ส่วนหุ้นของบริษัท ไลนาส คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแรร์เอิร์ธรายใหญ่ในออสเตรเลีย ขยับขึ้น 14.6%

จีนเป็นแหล่งที่มาของแรร์เอิร์ธ 80% ที่ถูกนำเข้าสหรัฐฯ ในช่วงปี 2014-2017 และเนื่องจากอเมริกายังต้องพึ่งพาจีนอย่างมากในการเข้าถึงแร่หายากเหล่านี้ รัฐบาลทรัมป์จึงยังไม่เคยสั่งรีดภาษีศุลกากรจากแรร์เอิร์ธและแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ ที่นำเข้าจากจีน ขณะที่ปักกิ่งมีแผนจะเก็บภาษีแรร์เอิร์ธและแร่เหล็กที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากอัตรา 10% เป็น 25% ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าปักกิ่งอาจเพียงแค่ขู่สหรัฐฯ เท่านั้น เพราะการจำกัดส่งออกก็เสี่ยงที่จะทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปแสวงหาโลหะมีค่าหายากเหล่านี้จากผู้ผลิตรายอื่นๆ แทน

จีนไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่มีแรร์เอิร์ธสำรองในปริมาณมาก สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) เผยคาดการณ์ในปีที่แล้วว่า ทั่วโลกยังมีปริมาณแรร์เอิร์ธสำรองอยู่ราวๆ 120 ล้านตัน เฉพาะในจีน 44 ล้านตัน ส่วนเวียดนามและบราซิลมีอยู่ประเทศละ 22 ล้านตัน

Source: ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา

- Rare earths could be the next front in the US-China trade war. Here's what you should know: 
https://www.cnn.com/…/rare-earths-china-trade-war/index.html
 

0 Share