10 ปีเลห์แมนล้ม โลกยังจมหนี้ :
เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นวันครบรอบ 10 ปีวิกฤตซับ ไพรม์พอดิบพอดี โดยยึดเอาวันที่อดีตวาณิชธนกิจใหญ่เบอร์ 4 ของสหรัฐอย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย และกลายเป็นโดมิโนตัวสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจระดับโลกขึ้นมา
ตลอดช่วง 10 ปีมานี้ โลกได้เรียนรู้บทเรียนหลายอย่าง โดยเฉพาะภาคการเงินที่อาจกล่าวได้ว่าเจ็บแล้วจำ มีการอุดช่องโหว่ความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่เคยปล่อยให้เกิดขึ้น เช่น การลงทุนในตราสารและอนุพันธ์ความเสี่ยงสูง และกฎยักษ์ใหญ่ล้มไม่ได้ จนภาคการเงินในวันนี้มีการล้อมคอกเสริมคอนกรีตมากกว่าเดิมเมื่อเทียบทศวรรษก่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังคงเห็นตรงกันว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตรอบใหม่นั้นยังมีอยู่ กับภาวะ "หนี้ท่วมโลก"
และหากมองในแง่ร้ายไปกว่านั้น การเสริมคอนกรีตในภาคการเงินเองก็ยังคงมีรอยร้าวอยู่ เมื่อการลงทุนความเสี่ยงสูงเป็นเหมือน "เหล้าเก่าในขวดใหม่" ที่เพียงเปลี่ยนชื่อแซ่และรายละเอียดบางอย่างไปสู่ผลิตภัณฑ์การเงินตัวใหม่ที่เสี่ยงแทบไม่ต่างจากของเดิม
ความเสี่ยงประการแรกในเรื่องของ "ปริมาณหนี้" นั้น เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดที่สุด บลูมเบิร์กรายงานว่า ระดับหนี้ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจาก 1.73 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,650 ล้านล้านบาท) เมื่อ 10 ปีก่อน ทะยานไปแตะ 250 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 8,164 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบัน
ส่วนตัวเลขอย่างเป็นทางการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จากฐานข้อมูลหนี้ทั่วโลกใน 190 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1950 ระบุว่า ณ สิ้นปี 2016 ปริมาณหนี้ทั่วโลกได้ทะยานไปแตะระดับ 225% ของจีดีพีโลก หรืออยู่ที่ประมาณ 164 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 5,355 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงสุดทุบสถิติเป็นประวัติการณ์ แม้ในแง่หนึ่งจะสะท้อนถึงการกู้ยืมขยับขยายธุรกิจและการลงทุนที่กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นดาบสองคมที่สะท้อนความเสี่ยงและเปราะบางไปพร้อมกันด้วย
จากตัวเลขดังกล่าวยังพบปัญหาเรื่องความสมดุลด้วย เพราะ 3 ประเทศที่ก่อหนี้มากที่สุดคือ สหรัฐ จีน และญี่ปุ่นนั้น มีสัดส่วนหนี้มากกว่าครึ่งของโลก ซึ่งหมายความว่าหาก 3 ชาตินี้เกิดปัญหาขึ้นมา ก็อาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของโลกไปพร้อมกันด้วยทั้งในแง่ของปริมาณหนี้ที่ถือครองอยู่ และในแง่ของโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น
ด้านสถาบันแม็คคินซีย์ โกลบอล ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของ"หนี้ภาคเอกชน" เป็นพิเศษว่า อาจจะเป็นต้นตอวิกฤตรอบใหม่ คล้ายกับครั้งก่อนที่มาจากหนี้ซับไพรม์ (สินเชื่อด้อยคุณภาพ)
ทั้งนี้ เนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โลกขับเคลื่อนอยู่บนดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น ดอกเบี้ยสหรัฐที่ถูกตรึงในระดับ 0-0.25% มาหลายปี หรือยุโรปและญี่ปุ่นที่ถึงกับใช้ดอกเบี้ยติดลบ ต้นทุนกู้ยืมที่ถูกมากเช่นนี้ทำให้ภาคเอกชนทั่วโลกก่อหนี้สูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ตุรกี อาร์เจนตินา บราซิล และแอฟริกาใต้ จนเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตค่าเงินในปัจจุบัน และทำให้หนี้ในภาพรวมโดยการคำนวณของแม็คคินซีย์พุ่งเป็น 169 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 5,518 ล้านล้านบาท) จาก 97 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 3,167 ล้านล้านบาท) ในปี 2007
ขณะเดียวกันความเสี่ยงในแง่ของการลงทุนก็อาจไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก แม้จะมีความพยายามอุดช่องโหว่ผ่านกฎหมายการเงินใหม่ เช่น กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ ในสหรัฐ
บริษัท มูดี้ส์ แอนาไลติกส์ ให้มุมมอง 10 ปีให้หลังวิกฤตเลห์แมนว่า เรากำลังเผชิญความเสี่ยงที่มีส่วนคล้ายคลึงบางประการกับของเก่าในเรื่องการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตลาดสหรัฐเต็มไปด้วยฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ โดยแบงก์หละหลวมปล่อยให้เกิดสินเชื่อ ซับไพรม์ หรือสินเชื่อคุณภาพต่ำที่ผู้กู้ไม่ผ่านเกณฑ์หรือไม่มีความสามารถชำระหนี้คืน แต่ก็ยังเปิดช่องให้คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้ ทำให้คนอเมริกันกู้สินเชื่อซับไพรม์มาลงทุนเก็งกำไรบ้านหลังแล้วหลังเล่า
ธนาคารรายย่อยมักเอาสินเชื่อเหล่านี้ไปทำเงินต่อด้วยกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Mortgage Backed Securities : MBS) โดยจับซับไพรม์เหล่านี้มามัดรวมกันแล้วขายต่อให้สถาบันการเงินอื่นๆ จากนั้นธนาคารรายใหญ่กว่าก็เอา MBS เหล่านี้มามัดรวมกับหนี้ประเภทอื่นๆ ไปแปลงเป็นตราสารอนุพันธ์ CDO (Collateralized Debt Obligations) และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงนำไปสู่การล้มทั้งระบบตั้งแต่ลูกหนี้รายย่อย ธนาคารขนาดเล็ก ไปจนถึงธนาคารขนาดใหญ่
ทว่า ปัจจุบันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับสินเชื่อบริษัทเอกชน หรือ Collateralized Loan Obligations : CLO ซึ่งอิงกับหนี้ประเภท Lavereged Loan หรือสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้กับบริษัทที่มีหนี้สูงอยู่แล้ว หรือมีเครดิตต่ำ โดยแลกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ
มูดี้ส์ประเมินว่า ตลาดสินเชื่อ Lavereged Loan ในสหรัฐมีปริมาณทุบสถิติใหม่ที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 45.7 ล้านล้านบาท) หรือแซงหน้าตลาดจังก์บอนด์ไปแล้ว ขณะที่ธนาคารยูบีเอสประเมินตัวเลขมากกว่านั้นว่า ตลาดสินเชื่อภาคเอกชนคุณภาพต่ำบวกกับตลาดจังก์บอนด์ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2010 โดยพุ่งไปแตะ 4.3 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 140 ล้านล้านบาท) แล้ว
ยิ่งโลกอยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นโดยมีอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นตัวกดดัน ก็ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวจากกองหนี้มหาศาลเหล่านี้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม และอาจกลายเป็นวัฏจักรปัญหาตามมาในวันหนึ่งข้างหน้าได้ในอีกไม่นานนี้
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday
http://fortune.com/2018/09/14/2008-financial-crisis-lehman-brothers/