"สังคมสูงวัย" ถือเป็นสถานการณ์ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในเอเชียที่ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 2 เท่า จาก 9.2% ในปี 2020 ไปอยู่ที่ 18% ในปี 2050 ตามคาดการณ์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

สำหรับความท้าทายใหญ่ในการตั้งรับสังคมสูงวัยเริ่มปรากฏขึ้นมาแล้วในขณะนี้ คือเรื่อง "ความไม่พร้อมทางการเงิน" ของหลายชาติเอเชีย โดยเฉพาะเกาหลีใต้และจีน รวมถึงบรรดาชาติอาเซียน

ความไม่พร้อมส่วนหนึ่งนั้นมาจากระบบกองทุนเงินบำนาญที่ยังไม่มีความยั่งยืนและเสถียรภาพมากพอ สะท้อนออกมาจาก Melbourne Mercer Global Pension Index (MMGPI) จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาเมอร์เซอร์ ซึ่งให้คะแนนระบบบำนาญทั่วโลกอ้างอิงตามความเพียงพอของเงินออม (40%) ความยั่งยืน (35%) และจริยธรรม (25%) โดย 2 ชาติเอเชีย คือเกาหลีใต้และจีน ทำคะแนนได้น้อยอย่างน่าตกใจ อยู่ที่ 47.3 และ 46.2 ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกที่ 60.5

ในกรณีของ "เกาหลีใต้" นั้น หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน เปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ว่า กองทุนบำนาญแห่งชาติให้ผลตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์ อยู่ที่ 1.88% ตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2018 แม้ปริมาณสินทรัพย์ของกองทุนเพิ่มขึ้นมา 2.2% ในช่วงดังกล่าวก็ตาม ซึ่งผลตอบแทนเมื่อปีที่แล้วต่ำกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ 2.39%

สาเหตุที่กองทุนบำนาญของเกาหลีใต้เผชิญปัญหาในการให้ผลตอบแทนต่ำลง มาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโตชะลอ ซึ่งฉุดมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลก จนส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ที่กองทุนบำนาญเข้าไปลงทุนใน 10 เครือยักษ์ธุรกิจ (แชโบล) ลดลงมาอยู่ที่ 66.45 ล้านล้านวอน (ราว 1.87 ล้านล้านบาท) ในปี 2018 จาก 80.81 ล้านล้านวอน (ราว 2.28 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2017

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลไม่แพ้กัน คือการเกษียณอายุของประชากรวัยทำงาน ซึ่งอยู่ที่ 5.83 ล้านคน เมื่อปี 2017 โดย 42.1% ของคนกลุ่มดังกล่าวเป็นสมาชิกกองทุนบำนาญ ขณะที่ประชากรวัยทำงานในเกาหลีใต้คาดว่าจะลดลงเรื่อยๆ ถึง 10% ช่วงปี 2017-2030 หมายความว่าเงินสมทบเข้ากองทุนจะหายไปนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงเริ่มวิตกมากขึ้นว่ากองทุนบำนาญจะถังแตกภายในปี 2056 และไม่มีเงินจ่ายให้คนเกษียณอายุตั้งแต่ปี 2057 นับเป็นสถานการณ์น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะกองทุนบำนาญเกาหลีใต้ ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 638 ล้านล้านวอน (ราว 17.9 ล้านล้านบาท) เป็นแหล่งเงินหลังเกษียณสำหรับชาวเกาหลีใต้เกือบทั้งประเทศ

สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งปฏิรูปกองทุนบำนาญให้สำเร็จหลังล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะเผชิญเสียงคัดค้านจากสาธารณชนและความไม่ลงรอยทางการเมืองระหว่างพรรคต่างๆ โดยล่าสุดนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้เสนอแนวทางปฏิรูปกองทุนบำนาญ 4 รูปแบบ คือ 1.รักษาประสิทธิภาพการบริหารจัดการของกองทุนในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มเงินบำนาญพื้นฐาน/เดือนมาอยู่ที่ 3 แสนวอน ในปี 2021 2.เพิ่มเงินบำนาญพื้นฐาน ส่วนข้อเสนอ 3 และ 4 เป็นการเพิ่มอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณควบคู่กับการเพิ่มเบี้ยประกัน

ขณะที่ปัญหาในระบบบำนาญของ "จีน" ค่อนข้างจะมีความซับซ้อนมากกว่าของเกาหลีใต้

แม้ระบบบำนาญจีนคล้ายคลึงกับหลายประเทศ โดยประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก คือระบบบำนาญแห่งชาติ บริหารจัดการโดยรัฐ ส่วนที่สองคือระบบบำนาญของลูกจ้างภาคบังคับ ซึ่งภาครัฐกำหนดให้นายจ้างต้องจัดตั้งกองทุนบำนาญ และลูกจ้างต้องหักเงินเข้าสมทบ และส่วนที่สาม คือระบบบำนาญภาคเอกชนแบบสมัครใจ แต่ภายใต้ระบบบำนาญที่ว่าก็มีการซอยลงเป็นรูปแบบย่อยๆ อีก คือสำหรับแรงงานในเมือง แรงงานในชนบท แรงงานที่อพยพเข้ามาในเมือง และข้าราชการ ดังนั้น ความซับซ้อนดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในความท้าทายบริหารจัดการระบบบำนาญของประเทศ

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของระบบบำนาญจีนคือพึ่งพาภาครัฐสูงมาก โดยส่วนแรกนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของระบบบำนาญทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ระบบบำนาญจีนที่มีรัฐเป็นผู้แบกภาระหลัก จึงเริ่มประสบปัญหาทางการเงินเมื่อประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐต้องจ่ายเงินบำนาญให้แรงงานที่เกษียณไป ขณะที่เงินสมทบก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมามากนักทำให้ส่วนต่างเงินสมทบกับรายจ่ายยิ่งถ่างออกขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้รัฐต้องควักเนื้อจ่ายเงินส่วนต่างที่ขาดไปนับตั้งแต่ปี 2014

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการคลังจีน ระบุว่า รายจ่ายเบี้ยบำนาญเพิ่มขึ้น 11.6% มาอยู่ที่ 2.58 ล้านล้านหยวน (ราว 12 ล้านล้านบาท) ในปี 2016 ซึ่งทำให้รัฐต้องจ่ายเงินอุดส่วนที่ขาดไป 4.29 แสนล้านหยวน (ราว 2 ล้านล้านบาท) ซึ่งเงินส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.9 แสนล้านหยวน (ราว 4.1 ล้านล้านบาท) ในปี 2020 ตามคาดการณ์สถาบันสังคมศาสตร์จีน (ซีเอเอสเอส)

ขณะที่ในกลุ่ม "ชาติอาเซียน" นั้น ความไม่พร้อมทางการเงินหลังเกษียณก็เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน ซึ่งหลักๆ มาจากการไม่มีเงินเก็บมากเพียงพอ สะท้อนออกมาจากผลการสำรวจพลเมือง 5 ชาติอาเซียน คือ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดย FT Confidential Research (FTCR) หน่วยงานวิเคราะห์ของไฟแนนเชียล ไทม์ส เมื่อปีที่ผ่านมา

จากผลการศึกษาของ FTCR หนึ่งในประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือชาวอาเซียนจำนวนมากระบุว่า ไม่ได้เข้าถึงระบบบำนาญหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยสัดส่วนของไทยสูงถึงกว่า 50% ตามด้วยเวียดนามที่เกือบ 40% และอินโดนีเซียราว 30%

แม้กระทั่งในชาติที่คนมีเงินบำนาญหรือเงินจากกองทุนอื่นๆ สำหรับช่วงหลังเกษียณ เช่น มาเลเซีย ซึ่งสัดส่วนผู้ไม่มีเงินกองทุนดังกล่าวอยู่ที่ไม่ถึง 30% แต่กองทุนประกันสังคมมาเลเซีย (EPF) เปิดเผยว่า ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมเพียงพอสำหรับช่วงหลังเกษียณ ซึ่งควรจะอยู่ที่อย่างน้อย 2.28 แสนริงกิต (ราว 1.76 ล้านบาท) สำหรับคนวัย 55 ปี แต่จากข้อมูลพบว่า 68% ของคนอายุ 54 ปี มีเงินไม่ถึง 5 หมื่นริงกิต (ราว 3.86 แสนบาท)

สัญญาณความไม่พร้อมทางการเงินจึงเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่บรรดาชาติเอเชียต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน ขณะที่ภาวะสังคมสูงวัยขยับเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ

โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

Source: Posttoday

เพิ่มเติม
- Asia must navigate pensions crunch
https://asia.nikkei.com/…/Asia-must-navigate-pensions-crunch

0 Share