Made In China'สะดุด ศึกค้าเดือดสกัดจีนผงาด :

ตลอดช่วงที่ผ่านมา "จีน" ได้ชื่อว่าเป็นโรงงานโลก จากการเป็นฐานผลิตสินค้าหลากหลายประเภท โดยความน่าดึงดูดของจีนนั้น มาจากความ เป็นประเทศเศรษฐกิจมหาอำนาจ และเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดยักษ์ ขณะที่ค่าแรงราคาถูกและการเปิดกว้างตลาดมากยิ่งขึ้นของรัฐบาล ช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการเข้าไปตั้งฐานผลิต ในจีนมากยิ่งขึ้น

การแห่เข้าไปลงทุนในจีนของเอกชนต่างชาติ และการเร่งขยายการผลิตของเอกชนภายในชาติ จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนุนให้จีนขึ้นแท่นหัวจักรหลักภายในซัพพลายเชนโลก ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งของภาคการผลิตจีนผ่านสินค้าแปะป้าย "เมด อิน ไชน่า" ที่ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ความเป็น "เมด อิน ไชน่า" ของจีนกำลังถูกสั่นคลอน หลังรัฐบาลสหรัฐนำโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งโจมตีจีนประเด็นการเกินดุล การค้ามหาศาลกับสหรัฐมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนขึ้นเป็นผู้นำประเทศ เปิดศึกสาดกำแพงภาษีใส่รัฐบาลปักกิ่ง มาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ทรัมป์กำลังไล่บี้จีนเต็มสูบ โดยข่มขู่ว่าจะเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.7 ล้านล้านบาท) เพิ่มเติมจากวงเงินภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์ที่ใกล้จะเริ่มมีผลในเร็วๆ นี้ อีกทั้งยังหารือหาทางใช้มาตรการ คว่ำบาตรกับเอกชนจีนที่ขโมยเทคโนโลยีสหรัฐด้วย

จากการเปิดศึกกับจีนหลายระลอกต่อเนื่องนี้เอง ทำให้บรรดาเอกชนที่ครั้งหนึ่งเคยมองว่าการ ลงหลักปักฐานผลิตในจีน จะช่วย เพิ่มจุดแข็งให้ธุรกิจ เริ่มเปลี่ยน ความคิดหันไปมองหาประเทศอื่นๆ ที่เสี่ยงตกเป็นเป้าโจมตีจากสหรัฐน้อยกว่าแทน การเริ่มย้ายฐานผลิตหนีออกจากจีน จึงเป็นการบั่นทอนแบรนด์เมด อิน ไชน่า โดยตรง

ขณะนี้เศรษฐกิจจีนยังไม่ได้รับผลกระทบ จากศึกการค้ากับสหรัฐ แต่สัญญาณความไม่มั่นใจจากภาคเอกชนกำลังปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนออกมาจากตัวเลขการลงทุนที่เริ่มชะลอตัวลง โดยตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัว 5.5% ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. นับเป็นการขยายตัวอ่อนแรงสุดตั้งแต่ปี 1996 ตามข้อมูลของ รอยเตอร์ส ไอคอน และต่ำกว่าคาดการณ์นักวิเคราะห์ที่ 6%

ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับขึ้น 6% ในเดือน ก.ค. เท่ากับตัวเลขเดือนก่อนหน้า และน้อยกว่าคาดการณ์นักวิเคราะห์ที่ 6.3%

แม้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคเอกชนยังปรับขึ้นแข็งแกร่งที่ 8.8% แต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลักเมื่อปีที่แล้ว ชะลอตัวแตะ 5.7% ในช่วง 7 เดือนแรก ของปี จากที่ปรับขึ้น 7.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สัญญาณจากตัวเลขดังกล่าว ทำให้รัฐบาลจีนประกาศแผน กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และเตรียมอัดงบลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในด้านโครงสร้างพื้นฐานถึงตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดนับว่าจีนยังไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่ในสายตาเอกชนแล้ว ข้อมูลดังกล่าวกระตุ้น ให้ต้องเร่งหาแผนรับมือ ด้วยการ ย้ายโรงงานออกนอกประเทศหรือ ลดการผลิตในจีนลง แม้ขณะนี้ยัง ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่ามีเอกชนจีนเริ่มย้ายการผลิตออกไปนอกประเทศจำนวนเท่าไร แต่จากข่าวช่วงที่ผ่านมา เอกชนจากหลายภาคส่วนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยาน พลาสติก สิ่งทอ หรือของเล่น เริ่มดำเนินการ ดังกล่าวไปแล้วไม่น้อย

"คงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การตั้งภาษีรอบใหม่ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนทั่วโลก เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น บริษัทจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปถึง 25% เมื่อเทียบกับเอกชนรายอื่นๆ ที่ไม่เจอพิษกำแพงภาษี" คริสโตเฟอร์ โรเจอร์ส นักวิเคราะห์ด้านซัพพลายเชนจากบริษัทวิจัย ปันจิวา กล่าว

เอชแอล คอร์ป บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานของจีน เปิดเผยเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐ ทำให้บริษัทตัดสินใจย้าย การผลิตจากเมืองเสิ่นเจิ้นไปเวียดนาม ด้าน เจ้อเจียง ไฮลิด นิว แมททรีเรียล ซึ่งผลิตและส่งออกสิ่งทอในจีน เตรียมย้ายการผลิตจากมณฑลเจ้อเจียง ไปยังประเทศเอเชียอื่นๆ และจะลงทุน 155 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มการผลิต ในสหรัฐอีก 50%

ก่อนหน้านี้ ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า เจ้าของโรงงานผลิตของเล่นราว 30 แห่งในจีน จะเดินทาง ไปสำรวจลู่ทางตั้งฐานผลิตในเมียนมาในเดือนนี้ หลังเริ่มส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้ช้าลงนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ จากมาตรการตรวจสอบสินค้าอย่าง เข้มงวดจากศุลกากรสหรัฐ

สำหรับเอกชนต่างชาตินั้น ก่อนหน้านี้ จีนพยายามเปิดกว้างภาคธุรกิจและภาคการผลิตในประเทศ ประเดิมด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบภาค การเงินเมื่อต้นปีนี้ โดยจะผ่อนกฎ เปิดให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการในจีนได้ง่ายขึ้น ขณะที่ล่าสุด นั้น รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งเปิดให้ ต่างชาติสามารถเข้ามาตั้งธุรกิจโดย ไม่ต้องร่วมทุนกับเอกชนจีนได้เป็นครั้งแรก เพื่อกระตุ้นการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ เครื่องบิน โดรน และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอื่นๆ

อย่างไรก็ดี การประกาศเปิดกว้างเศรษฐกิจของจีนยังไม่น่าดึงดูดใจเพียงพอ ในการเหนี่ยวรั้งเอกชน ต่างชาติให้ปักหลักในประเทศต่อเอกชน "ญี่ปุ่น" นับว่าออกตัวอย่างเห็นได้ชัดว่ากำลังย้ายออกมาจากจีน โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของ ยูนิโคล่ ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้ากำลังย้ายฐานผลิตจากจีนมายังประเทศอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทเตรียมจะเปิดโรงงานใหม่ในอินโดนีเซียในเดือน พ.ย.นี้

แม้จีนคิดเป็น 60% ของฐานการผลิต แต่บริษัทกำลังเดินหน้าเปิดโรงงานในเวียดนามและอินโดนีเซียมากขึ้น เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และมีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่า ในจีน โดยซีเอ็นบีซีรายงานว่า ค่าแรงรายชั่วโมงในจีนพุ่งขึ้นมา 64% จากปี 2011 ไปอยู่ทีค่าแรงของหลายประเทศเอเชีย

ด้าน ออน วอร์ด โฮลดิ้งส์ บริษัทผลิตเสื้อผ้าญี่ปุ่นอีกแห่งเพิ่งตั้งฐานผลิตในกัมพูชา เพื่อเพิ่มการผลิตในประเทศอาเซียน เช่นเดียวกับ อาดาสเทรีย ที่ตั้งเป้าเพิ่มการผลิตในเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซียขึ้นเป็น 30% ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน "ไต้หวัน" เป็นอีกชาติที่พยายามดึงเอกชนที่ไปตั้งโรงงานผลิตในจีนกลับมา โดยเฉพาะผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยไต้หวันคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากศึกการค้าจีน-สหรัฐ เนื่องจากไต้หวันส่งออกไปจีนถึง 40%

ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า รัฐบาลไต้หวันกำลังร่างแผนให้สิทธิประโยชน์กับเอกชนที่กลับมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศ โดยเตรียมพิจารณาผ่อนกฎการใช้งานที่ดินที่เข้มงวด รวมถึงขยายสิทธิพิเศษทางภาษี ให้กับบริษัทที่ลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนา อัพเกรดเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต

แม้ภาคธุรกิจคงจะไม่ย้ายฐานผลิตออกมาจากจีนทั้งหมด แต่ก็กำลังค่อยๆ ขยับขยายกิจการออกไปยังประเทศ อื่นๆ ทีละน้อย ความเคลื่อนไหว ที่ว่านี้คือความท้าทายในการผลักดัน ให้สินค้า "เมด อิน ไชน่า" ของจีนผงาดไปไกลขึ้นทั่วโลก และกดดันศักยภาพการแข่งขันของภาคการ ผลิตจีน ท่ามกลางศึกการค้ากับสหรัฐ ที่ดูท่าจะยืดเยื้อไปอีกยาว

โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
Source: Posttoday

0 Share