จับตาปัญหาหนี้จีน จุดเสี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่:ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทยมองวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตอาจเกิดจากปัญหาหนี้ในจีน

แม้จะไม่รุนแรงเท่าวิกฤตซับไพรม์ แต่อาจทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น อีกทั้งเครื่องมือในการรับมือมีจำกัดเมื่อเทียบกับวิกฤตครั้งก่อน ผู้ประกอบการและนักลงทุนจึงควรจะเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

หลังจากวิกฤตการเงินโลกที่ทำให้บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิช ธนกิจระดับโลกล้มละลายผ่านไปครบ 10 ปี ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีหลายฝ่ายเริ่มออกมาพูดถึงวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจชื่อดังที่รายงานว่าตัวชี้วัดเกี่ยวกับสัญญาณการเกิดวิกฤตเริ่มส่งสัญญาณแล้ว

แม้ช่วงเวลาและปัจจัยที่จะเป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤตในคราวนี้จะชี้ชัดได้ยาก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในโลกกำลังเผชิญปัจจัยที่น่ากังวล ก็คือ เรื่องหนี้ที่สูง ที่มีผลมาจากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นเวลานานและการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านโปรแกรมคิวอี ทำให้มีการก่อหนี้สูงในแทบจะทุกประเทศ

โดยรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เกี่ยวกับเสถียรภาพของการเงินโลก พบว่าปี 2559 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 260 แล้ว โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้รัฐบาลและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยโลกขาขึ้นอาจจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะหนี้ของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

และที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ หนี้ของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นมาจากบริษัทจีน โดยตั้งแต่ปี 2549-2559 บริษัทจีนมีหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 14.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลจีนพยายามลดการก่อหนี้ ทำให้มีการผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมของตลาดสินเชื่อจีนดูแย่ลง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากสงครามทางการค้ากับสหรัฐที่บริษัทจีนจะต้องรับมืออีก ปัญหาหนี้ในจีนจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ค่อนข้างน่ากังวล แต่ความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทยคาดว่าจะไม่รุนแรงเหมือนวิกฤตปี 2551

เนื่องจากบทเรียนจากวิกฤตครั้งก่อน ทำให้สถาบันการเงินมีการเตรียม การรับมือความเสี่ยงที่ดีขึ้น อีกทั้ง ผู้กำกับดูแลก็มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ที่เข้มงวดขึ้น สอดคล้องกับความเห็นของโกลด์แมน แซคส์ ที่มองว่าวิกฤตครั้งนี้จะเป็นเพียงการชะลอตัวของราคาสินทรัพย์เท่านั้น แต่จะไม่ถึงขั้นราคาสินทรัพย์หดตัวรุนแรงเหมือนวิกฤตคราวก่อน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจาก การชะลอของเศรษฐกิจครั้งนี้ แม้ไม่รุนแรง แต่จะทำให้ช่องว่างทาง ความมั่งคั่งยิ่งกว้างขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็เจอ ปัญหาเหล่านี้เช่นกัน จากรายงานความมั่งคั่งของโลกที่จัดทำโดย Credit Suisse พบว่า สินทรัพย์เกือบครึ่ง ของโลกถูกถือโดยประชากรเพียง ร้อยละ 1 ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นนี้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคม อื่นๆ ตามมา

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่มีไม่มากเท่ากับวิกฤตครั้งก่อน หากพิจารณาช่วงที่เกิดวิกฤตปี 2551 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 5.25 เหลือ 0.25 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 5 เหลือ 1.25 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจุบันดอกเบี้ยเฟดคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ร้อยละ 1.75 ณ สิ้นปีนี้ ดังนั้นแม้ผลกระทบจากวิกฤตคราวนี้จะไม่ได้รุนแรงเท่าครั้งก่อน แต่เครื่องมือที่ใช้รับมือผลกระทบดังกล่าวก็จำกัดด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่เห็นสัญญาณของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเกิดวิกฤตกับประเทศอื่น ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ดังนั้น ทั้งผู้ประกอบการและ นักลงทุนควรจะเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย

Source: Posttoday

——————————————                                                                            ———————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


0 Share