สงครามการค้า' ส่อเค้ายืดเยื้อเกิน 1 ปี : บรรดานักเศรษฐศาสตร์ มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจีนจากสงครามการค้าที่ ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐกับจีน

ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านจีนซึ่งจัดทำร่วมกันโดย "นิคเกอิ" และ "นิคเกอิ ควิก นิวส์" พบว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนเติบโตเฉลี่ย 6.6% ในช่วงระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย. ลดลงเล็กน้อยจาก 6.7% ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. ที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า สงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกจะคงอยู่ไปอีกนาน และอาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนหยุดชะงัก

สหรัฐและจีนต่างประกาศเก็บภาษีแต่ละฝ่ายตอบโต้กัน และแนวโน้มที่จะเกิดการพูดคุยระหว่าง 2 ประเทศลดน้อยลงเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงของบรรดาผู้ผลิตเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญ

"สงครามการค้าเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจจีน ไม่ใช่เพียงสำหรับภาคการส่งออกเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ที่เกี่ยวข้องด้วย" ไอริส ผาง นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านจีนแผ่นดินใหญ่ของธนาคารไอเอ็นจี กล่าว และว่า "ในบรรดาบริษัททั้งหมด วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด และส่งผลให้การผลิตและการลงทุนในภาคการผลิตเติบโตชะลอตัวลง"

ขณะเดียวกัน การปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่รัฐบาล ปักกิ่งริเริ่มก่อนเกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบ ยังเพิ่มแรงกดดันขาลงต่อเศรษฐกิจของจีน

เหยา เว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทโซซิเอเต้ เจเนเรล คอร์ปอเรท แอนด์ อินเวสท์เมนท์ แบงกิง กล่าวว่า มีสัญญาณมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ นโยบายที่เข้มงวดเริ่มส่งผลเสียต่อการเติบโต

"ความตึงเครียดทางการค้าไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายในเร็วๆ นี้ และอาจเริ่มฉุดรั้งการส่งออกอย่างหนัก"

การคาดการณ์การเติบโตของจีนทั้งปี 2561 อยู่ที่ 6.6% ส่วนในปี 2562 และ 2563 น่าจะเติบโต 6.3% และ 6.2% ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจก่อนหน้านี้ในเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าภาวะชะลอตัว ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากในปีที่แล้วเติบโต 6.9%

ทั้งนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ประเมิน ผลกระทบของสงครามการค้าภายใต้สถานการณ์พื้นฐานที่เศรษฐกิจชะลอตัวในระดับปานกลาง

"ดูเหมือนว่าความแตกแยกทางการค้ากับสหรัฐจะยังดำเนินต่อไป และจะฉุดรั้งการเติบโตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" ริชาร์ด เจอร์แรม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแบงก์ ออฟ สิงคโปร์ กล่าว และว่า "อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นนโยบายเมื่อเร็วๆนี้ จะชดเชยความเสียหายจากการค้าด้วยการกระตุ้น เศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งน่าจะป้องกันไม่ให้เกิดการชะลอตัวมากเกินไปได้"

พรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจใน การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อเดือนก.ค. ว่า จะยังใช้นโยบายการคลังเชิงรุกและมาตรการการเงินที่เข้มงวดและสมดุลเป็นตัวแปรสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศต่อไป

"การตัดสินใจดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงความรู้สึกเชิงลบในตลาดการเงินและสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินของประเทศ ในช่วง 3 เดือนจนถึงเดือนธ.ค. นี้" เฉิง ซี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายการวิจัยของบริษัทไอซีบีซี อินเตอร์เนชันแนล ระบุ และว่า "ผลกระทบเชิงบวกของมาตรการเหล่านี้ จะเริ่มเห็นผลในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ปีหน้า หลังจากช่วยกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคโดยตรง"

ฟ่าน เสี่ยวเฉิน ผู้อำนวยการธนาคารเอ็มยูเอฟจี มองบวกต่อมาตรการนี้เช่นกัน โดยบอกว่า มาตรการทางการคลังและ การเงินที่แข็งแกร่งและเชิงรุก จะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ และเศรษฐกิจจะยังเติบโตอย่างมีเสถียรภาพที่กว่า 6%

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนยังคงระมัดระวัง "เราคาดว่าการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานจะฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำ แต่ยังคงเติบโตด้วยเลขตัวเดียวในปีหน้า" ปีเตอร์ โซ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าร่วมฝ่ายการวิจัยของบริษัทซีซีบี อินเตอร์เนชันแนล ซีเคียวริตีส์ กล่าว ปัจจัยเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะสร้างแรงกดดันขาลงต่อเศรษฐกิจจีนมากที่สุด คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นตัวเลือกที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เลือกตอบในแบบสำรวจนี้

"เราคาดว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด สงครามการค้าอาจลดการเติบโตของจีดีพี ของจีนมากถึง 1.5% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า" ไอดาน เหยา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านตลาดเอเชียเกิดใหม่ของบริษัทแอกซ่า อินเวสท์เมนท์ แมเนเจอร์ส เอเชีย ลิมิเต็ด ระบุ

ในภาพรวม บรรดานักวิเคราะห์ยังคงมองแง่ร้ายเกี่ยวกับอนาคตของความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก และมีนักวิเคราะห์เพียง 5 คนจาก 16 คน ที่มองว่า แนวโน้มของความขัดแย้งนี้จะคลี่คลายลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า หลังผ่านการเลือกตั้ง กลางเทอมของสหรัฐในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา

ขณะที่นักวิเคราะห์ 6 คน ระบุว่า สถานการณ์นี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลง และ นักวิเคราะห์ที่เหลือคาดว่าจะเลวร้าย กว่าเดิม

"ดูเหมือนทั้งสหรัฐและจีนไม่สนใจที่จะทำข้อตกลงกัน ความมุ่งมั่นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการสกัดการขาดดุลการค้า และใช้ไม้แข็งกับคู่แข่งอย่างจีน ที่กำลังเติบโตขึ้น เราคาดว่าเขาจะเดินหน้า เล่นงานจีนต่อไปและหาทางตั้งกำแพงภาษีจากสินค้าที่เหลือมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์" ซูซาน โจโฮ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท จูเลียส แบร์ กล่าว

ด้านเคนนี เหวิน นักยุทธศาสตร์จัดการความมั่งคั่งของบริษัทเอเวอร์ไบรท์ ซุน ฮุง ไค ระบุว่า ต่อให้ความตึงเครียดดังกล่าวผ่อนคลายลงหลังการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ แต่สงครามนี้น่าจะลุกลามไปถึงเทคโนโลยีและค่าเงิน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สหรัฐมุ่งจะเล่นงานจีน

นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดว่า ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ขณะที่ ส่วนใหญ่คาดว่า ธนาคารกลางจีนจะลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคาร หรือสัดส่วนเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต้องมีในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ลง 0.25-0.5% อีกหลายครั้ง

ผลสำรวจยังชี้ว่า มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นที่คาดว่าเงินหยวนของจีนเทียบกับดอลลาร์จะอ่อนค่าลงจากผลสำรวจครั้งก่อน โดยการคาดการณ์เฉลี่ยสำหรับเงินหยวนอยู่ที่ 6.85 หยวนต่อดอลลาร์ ในสิ้นปีนี้ 6.85 หยวนในสิ้นปี 2562 และ 6.71 หยวนในสิ้นปี 2563


Source : กรุงเทพธุรกิจ

- US-China trade war will last over a year, economists predict :https://asia.nikkei.com/…/US-China-trade-war-will-last-over…

——————————————                                                                            ———————————————

ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share