ภูมิคุ้มกันธนาคารไทย กับปัจจัยเสี่ยงปี 2562 : เดือน ธ.ค.เป็นช่วงที่คนมักจะมองไปข้างหน้าเพื่อวางแผนชีวิตหรือแผนธุรกิจในปีถัดไป สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดว่ายังคงเติบโตต่อเนื่องในระดับ 4% ขึ้นไป แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่ยังต้องจับตา

เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ สงครามการค้า และภาระหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในประเทศและระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดูแลความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ รวมถึงความเสี่ยงระบบธนาคารพาณิชย์ จึงขอถือโอกาสนี้มาเล่าสู่กันฟังว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีภูมิคุ้มกันรองรับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปี 2562 มากน้อยเพียงใด

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ต่อไปอีกอาจทำให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่งผลให้ค่าเงินผันผวนและสภาพคล่องในตลาดเงินหลายสกุลตึงตัว ซึ่งจะทำให้การระดมทุนเป็นสกุลต่างประเทศทำได้ยากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการไหลออกของเงินทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กลุ่มที่เศรษฐกิจมีความเปราะบางหลายประเทศ เช่น ตุรกี อาร์เจนตินา และเวเนซุเอลา

ในประเด็นความเสี่ยงนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่ดีประการแรก เศรษฐกิจไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ประการที่สองในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีการกู้ยืมจากต่างประเทศอยู่ในสัดส่วนค่อนข้างต่ำ และประการที่สามธนาคารพาณิชย์ไทยมีการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเกือบหมด Currency Mismatch อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องและต้นทุนการระดมทุนสกุลเงินตราต่างประเทศอาจสูงขึ้น ธนาคารพาณิชย์จึงควรเตรียมความพร้อมรับมือในประเด็นดังกล่าวด้วย

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ความเสี่ยงจาก Trade War อาจส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในบางภาคส่วน เช่น กลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปจีนโดยตรง กลุ่มผู้ส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนและเครือข่ายการค้าการผลิตในภูมิภาค แม้จะมีข่าวดีว่าไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐและจีนมาไทย แต่ก็ยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่นในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดดังกล่าว นอกจากนี้ หากสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อจนกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ก็อาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในระลอกถัดไปได้ จึงยังคงต้องติดตามผลกระทบของ Trade War อย่างต่อเนื่อง

ภาระหนี้ครัวเรือน ปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง และเป็นปัญหาสำคัญของหลายประเทศในภูมิภาค เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย ดังจะเห็นได้จากหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เพื่อดูแลหนี้ภาคครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Credit Underwriting) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ต้องระมัดระวัง คือ ต้องไม่ปล่อยให้แรงกดดันจากการแข่งขันมาทำให้หย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลง และหากผู้กำกับดูแลเห็นประเด็นความเสี่ยงก็ต้องออกมาเตือนก่อนที่จะเกิดปัญหาปัจจัยในประเทศ

อีกประการที่ต้องจับตาคือ หนี้ธุรกิจขนาดกลางถึงเล็ก ซึ่งยังมีหนี้เสียเพิ่มอยู่ จากปัจจัยเชิงโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขันสำหรับลูกหนี้ในกลุ่มนี้ธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันค่อนข้างมีความระมัดระวังในการคัดกรองสินเชื่อ

นอกจากนี้ ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลให้มีการจัดชั้นที่เหมาะสม กับความเสี่ยงและมีการตั้งเงินสำรองหนี้สูญรองรับ จึงทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินสำรองที่สูงพอสมควร และถือเป็นภูมิคุ้มกันอีกด้านหนึ่งของระบบธนาคารพาณิชย์ ภูมิคุ้มกันของระบบธนาคาร หากดูจากความสามารถในการทำกำไร ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงนั้น จะเห็นได้ว่าแหล่งรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์คือสินเชื่อยังเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ

แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีการแข่งขันลดค่าธรรมเนียม E-payment หรือให้ฟรีในบางประเภท แต่ในภาพรวมค่าธรรมเนียมดังกล่าวยังคงเป็นสัดส่วนที่เล็กเทียบกับรายได้จากสินเชื่อ

นอกจากนี้ การปรับพฤติกรรมลูกค้าให้มาใช้ E-payment ยังช่วยลดต้นทุนแฝงจากการให้บริการเงินสดลงได้ และเมื่อประกอบกับการพัฒนา E-payment และ Digital Banking ให้กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน ลูกค้าก็จะช่วยรักษาและขยายฐานลูกค้าให้อยู่กับธนาคารได้มากขึ้น เป็นผลดีกับทั้งผู้บริโภคและธนาคารพาณิชย์

สุดท้ายหากจะสรุปสั้นๆ เรื่องภูมิคุ้มกันระบบธนาคารพาณิชย์ ก็กล่าวได้ว่าในภาพรวมมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มแข็งดีขึ้นมาก และหากธนาคารพาณิชย์ใดมีจุดที่พึงระวังก็เป็นบทบาท ธปท. ที่จะเข้าไปดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น

นอกเหนือจากการบริหารความเสี่ยงที่ดีแล้ว ภูมิคุ้มกันที่สำคัญ คือ การมีกันชนรองรับความเสียหาย ซึ่งได้แก่ ระดับเงินกองทุนและการกันสำรองที่สูงพอสมควร เมื่อมองมุมนี้ถือว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะสามารถรับมือกับมรสุมต่างๆ ที่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี จึงมั่นใจได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินให้แก่ทุกภาคส่วนได้อย่างมั่นคงในปี 2562 ที่จะถึงนี้

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ธนาคารพาณิชย์จะต้องไม่นิ่งนอนใจ ควรจะต้องนำปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ มาคิดในเชิง Scenario ว่า หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ตนเองพร้อมหรือไม่ เพราะเหตุการณ์บางเรื่องแม้ว่าจะประเมินแล้วโอกาสที่จะเกิดมีไม่มาก แต่หากไม่เตรียมคิดหรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงกว่าที่คิดได้

โดย ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ สายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย

Source: Posttoday


ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก


 

0 Share