ปี 2018 นับเป็นปีที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เผชิญความผันผวนอย่างหนัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานไปแตะ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเดือน พ.ค. แล้วก็ร่วงลงอย่างหนักในช่วงปลายปีลงมาอยู่ที่ราวๆ 55 ดอลลาร์/บาร์เรล

เฉพาะเมื่อวานนี้เพียงวันเดียว ตลาดน้ำมันได้กลับมาพุ่งทะยานอีกครั้งตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐ โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสทะยานขึ้น 8.7% ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์การปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2016 ไปอยู่ที่ 46.22 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อวันพุธ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนต์ที่พุ่งขึ้น 8% ไปอยู่ที่ 54.47 ดอลลาร์/บาร์เรล

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันที่ตัวราคาแล้ว ยังนับว่าห่างไกลจากระดับปิดสูงสุดที่ประมาณ 80 ดอลลาร์อยู่ไม่น้อย

สำหรับในปี 2019 ตลาดน้ำมันและสินค้าเกษตรอื่นๆ มีแนวโน้มต้องเจอความผันผวนอีกมากที่ยังรออยู่ ซึ่ง

หลักๆ มาจากความวิตกเศรษฐกิจโลกโตชะลอจนไปกดดันดีมานด์ ขณะที่ตัวแปรหลักที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด คือเรื่องการปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) และกลุ่มนอกโอเปกนำโดยรัสเซีย รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ ข่าวดีสำหรับตลาดน้ำมันคือการที่กลุ่มโอเปกและนอกโอเปกสามารถบรรลุข้อตกลงลดผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน นับตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีหน้า โดยกลุ่มโอเปกจะลดการผลิตลง 8 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งซาอุดิอาระเบียจะแบกสัดส่วนดังกล่าวมากที่สุด และกลุ่มนอกโอเปกให้คำมั่นปรับลดสัดส่วนลง 4 แสนบาร์เรล/วัน

ทว่าความไม่มั่นใจว่าดีลดังกล่าวอาจยังไม่พอสร้างสมดุลระหว่างปริมาณน้ำมันกับดีมานด์ ขณะที่ซัพพลายยังอยู่ในระดับสูงอยู่

ท่ามกลางความเสี่ยงเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกกดดันให้ราคาน้ำมันยังร่วงลงราว 12% นับตั้งแต่กลุ่มโอเปกและนอกโอเปกบรรลุดีลกันไปเมื่อต้นเดือน ธ.ค.

"ความผันผวนยังคงเป็นปัจจัยหลักในตลาดและราคาน้ำมันที่ร่วงลงไปต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้ บ่งชี้ถึงความกลัวอย่างแท้จริงว่าเศรษฐกิจโลกโตชะลอจะส่งผลกระทบต่อดีมานด์" ยีน แมคกิลเลียน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดที่บริษัท พลังงาน ทราดิชั่น อีเนอร์จี กล่าว

ก่อนหน้านี้ไม่นาน สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซบเซา อาจส่งผลให้ดีมานด์น้ำมันในปี 2019 ลดลงราว 1 แสนบาร์เรล/วัน ไปอยู่ที่ 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน ด้านโอเปกเอง คาดการณ์ว่าการปรับตัวขึ้นของดีมานด์น้ำมันปีหน้าจะอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ เจพี มอร์แกน มีมุมมองลบกว่าหลายสำนัก โดยมองว่าดีมานด์น้ำมันโลกจะอยู่ที่เพียง 1.1 ล้านบาร์เรล/วัน

ขณะที่กลุ่ม "เชลออยล์" หรือกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมา กับโอเปกมาโดยตลอด มีแนวโน้มผลิตน้ำมันลดลงในปีหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันร่วงหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ที่ปรับลงแตะกรอบ 46-50 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่งผลให้เชลออยล์หลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน โดยรอยเตอร์ส รายงานว่าเชลออยล์หลายแห่ง เช่น เซนเทนเนียล รีซอร์ส ดีเวลอปเมนต์ ยกเลิกแผนเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมัน 2.5 ล้านแท่น ตามหลังไดมอนด์แบค อีเนอร์จี และพาร์สลีย์ อีเนอร์จี บริษัทคู่แข่งที่ยกเลิกการเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันใน ปีหน้า

สอดคล้องกับรายงานสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ปรับลงมาแล้ว 3 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยรอยเตอร์สรายงานอ้างนักวิเคราะห์ว่าสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐคาดว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 ธ.ค.

จากแนวโน้มที่เชลออยล์ไม่น่าจะคัมแบ็กในปี 2019 กุญแจหลักงัดราคาน้ำมันขึ้นในปีหน้าจึงอยู่ที่กลุ่มโอเปกและนอกโอเปก

"หากโอเปกทำได้ตามดีลหั่นผลิต ราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนเบรนต์ มีแนวโน้มพุ่งแตะ 58-70 ดอลลาร์/บาร์เรล" ชิมฮเยจิน นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จาก ซัมซุง ซิเคียวริตี้ส์ กล่าว ด้านธนาคารยูบีเอสและโกลด์แมนแซคส์มองบวกยิ่งกว่านั้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะพุ่งไปอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำหรับ "สินค้าเกษตร" นั้นได้รับผลกระทบไปด้วยจากความปั่นป่วนในตลาดน้ำมัน ซึ่งฉุดให้ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ของบลูมเบิร์ก ปรับลงแล้ว 6.55% ในปีนี้

ตลอดปีนี้ขาลงของสินค้าเกษตรเป็นผลมาจากศึกการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเป็นหลัก โดยช่วงเดือน ก.ค. จีนตอบโต้สหรัฐด้วยการตั้งภาษี 25% กับสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด เนื้อวัว เนื้อหมูและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งกำแพงภาษีดังกล่าวส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2018 สหรัฐส่งออกถั่วเหลืองไปจีนลดลงถึง 62% อยู่ที่ 8.2 ล้านตัน จาก 21.4 ล้านตัน เมื่อปีก่อนหน้านี้

แม้มีรายงานว่าจีนจะกลับมานำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอีกครั้งอยู่ที่ 5 แสนตัน หลังสองฝ่ายทำข้อตกลงสงบศึกการค้า 90 วัน แต่ปริมาณการนำเข้า ดังกล่าวนับว่ายังไม่เพียงพอ และต้องรอดูทิศทางการเจรจาระหว่างสองฝ่ายกันต่อไป โดยล่าสุดนั้นบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวว่าคณะผู้แทนเจรจาการค้าของสหรัฐจะเดินทางไปถกประเด็นการค้ากับจีนในวันที่ 7 ม.ค.นี้

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจจีนอ่อนแรงลงก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะเสี่ยงกดดันดีมานด์สินค้าเกษตร โดยจีนมีบทบาทอย่างมากต่อทิศทางตลาด เนื่องจากเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลก

ด้วยเหตุนี้ในปีหน้าตลาดสินค้าเกษตรคาดว่าจะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยศูนย์ข้อมูลน้ำมันและธัญพืชของจีนคาดการณ์ว่าจีนจะนำเข้าถั่วเหลืองลดลง 9 ล้านตัน เมื่อเทียบรายปีมาอยู่ที่ 86 ล้านตัน ในปี 2019 ซึ่งในปี 2018 จีนนำเข้าถั่วเหลืองลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2004 อยู่ที่ราว 88-89 ล้านตัน ปรับตัวลงประมาณ 6% จากปี 2017

ปี2019 จึงน่าจะเป็นอีกปีที่เหนื่อยยากไม่น้อยสำหรับตลาดน้ำมันและสินค้าเกษตร ท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก

โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

Source: Posttoday

0 Share