สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน 2 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักเป็นวงกว้าง หลังจากทั้งสองชาติได้ตั้งกำแพงภาษี นำเข้ากระทบสินค้าเป็นวงเงินหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐตอบโต้กัน

ทั้งยัง ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก สร้างความปั่นป่วนให้ซัพพลายเชนและฉุดภาคการผลิตทั่วโลก

ล่าสุด รอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า คณะเจรจาของสหรัฐและจีน ได้เริ่มร่างข้อตกลงเพื่อคลายข้อพิพาทวานนี้ นับว่าเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่ที่จะนำไปสู่การสงบศึกสงครามการค้า ที่ยืดเยื้อมานาน 7 เดือน โดยกำลังร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) 6 ฉบับ เพื่อคลายข้อพิพาท 6 ประเด็น ที่กระทบความสัมพันธ์ทางการค้า ได้แก่
1. การบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี และการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์
2. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
3. การบริการ
4. ค่าเงินหยวน
5. สินค้าเกษตร
6. อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

ครอบคลุมประเด็นหลัก
ทั้งนี้ สหรัฐกล่าวหาว่าจีนบีบ บังคับให้เอกชนสหรัฐที่ทำธุรกิจในจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีและความลับด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้พันธมิตร ท้องถิ่น แต่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหามา ตลอด

รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้พยายามกดดันให้จีนลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม กฎระเบียบ กระบวนการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ กระบวนการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติต่างๆ ที่สหรัฐอ้างว่าจีนกีดกันสินค้าจากสหรัฐ หรือเพิ่มความได้เปรียบให้บริษัทท้องถิ่น

สตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ พยายามผลักดันให้จีนเปิดตลาดในภาคการบริการทางการเงินให้บริษัทต่างชาติ รวมถึงวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ผู้ให้บริการบัตรเครดิตของสหรัฐ ซึ่งรอเข้าตลาดจีนมานานหลายปีแล้ว นอกจากนี้มนูชินยังเคยเตือนจีนเรื่องการอ่อนค่าเงินหยวนเพื่อเอื้อการส่งออก หลังค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าอย่างหนัก เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว

รอยเตอร์สระบุว่า คณะเจรจาทั้งสองชาติยังได้ร่างรายชื่อสินค้า 10 ประเภทที่จีนจะเพิ่มการนำเข้า เพื่อช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ รวมถึง สินค้าเกษตร พลังงาน และเซมิคอนดักเตอร์

อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า สหรัฐและจีนยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในการเจรจาและการเจรจาอาจจบด้วยความล้มเหลว ขณะที่ทั้งสองชาติยังอยู่ระหว่างการหารือเรื่องกลไกสำหรับการปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งอาจมีเงื่อนไข ตั้งกำแพงภาษีอีกครั้ง ถ้าปักกิ่งละเมิดข้อตกลง โดยทั้งสองชาติต้องเจรจาเพื่อได้ข้อตกลงก่อนเส้นตายวันที่ 1 มี.ค. ที่สหรัฐจะปรับขึ้นอัตรากำแพงภาษีสินค้าจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ จาก 10% เป็น 25%

ขณะเดียวกัน รอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า การบรรลุข้อตกลง การค้าจะลดโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) เพื่อเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คาดว่าจะมีการปรับลดสัดส่วนกันสำรองภายในไม่กี่ไตรมาสข้างหน้านี้ หลังปรับลด 5 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว

ชาติเอเชียอ่วมหนัก

สงครามการค้าที่ฉุดเศรษฐกิจจีนยังส่งผลกระทบต่อหลายชาติเอเชีย โดยล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของญี่ปุ่นในเดือน ก.พ. อยู่ที่ 48.5 ลดลงมาจาก 50.3 ในเดือน ม.ค. หลุดระดับ 50 หรือเข้าขั้นถดถอยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2016

โจ เฮย์ส นักเศรษฐศาสตร์ของ ไอเอชเอส มาร์กิต กล่าวว่า แม้ว่ามีการคาดการณ์ในไตรมาส 4 ปีที่แล้วว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่มีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยังไม่ฟื้นตามคาด พร้อมระบุว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่ญี่ปุ่นอาจเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้

ขณะที่นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า การส่งออกสินค้าไปจีนของหลายชาติในเอเชียยังลดลงด้วย โดยการ ส่งออกไปจีนของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. ลดลง 17.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นับเป็นการหดตัว 2 เดือนติดต่อกัน เพิ่มเติมจากการหดตัว 7% ในเดือน ธ.ค. เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์หลายประเภทลดลง โดยเฉพาะอุปกรณ์ผลิตชิปที่ลดลงราว 25% และอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลดลงราว 39%

ด้านการส่งออกของเกาหลีใต้ ไปจีนในเดือน ม.ค. ลดลง 19% ซึ่ง คาดว่าสาเหตุหลักคือการส่งออก เซมิคอนดักเตอร์ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของการส่งออกไปจีน เช่นเดียวกับการส่งออกของสิงคโปร์ไปจีนที่ ลดลง 25% เนื่องจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้าลดลง ขณะที่การส่งออกของประเทศไทยไปยังจีนใน เดือน ธ.ค. ลดลง 7.3%

โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Source: Posttoday
https://www.cnbc.com/…/us-china-outline-of-deal-to-end-trad…

0 Share