ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับการรับรองข้อตกลง Brexit ได้ทำให้อังกฤษเข้าสู่ภาวะไม่แน่นอนทางการเมืองมากขึ้น และยังมีความเสี่ยงต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนางเทเรซา เมย์

เมย์ได้ยื่นญัตติในสภาล่างเพื่อขอให้ส.ส.รับรองข้อตกลง Brexit ที่เธอได้ทำกับสหภาพยุโรป แต่ปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรได้คว่ำข้อตกลงของเธอด้วยคะแนน 432 เสียงต่อ 202 เสียง โดยแพ้ถึง 230 เสียง ซึ่งถือเป็นการแพ้โหวตครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ รัฐบาลอังกฤษมีเวลาสามวันที่จะนำแผนปฏิบัติการใหม่กลับมาให้สภา แต่เนื่องจากรัฐสภายังไม่ได้กำหนดว่าจะประชุมในวันศุกร์นี้ นั่นหมายความว่าจะต้องมีการตกลงแผนใหม่กับอียูและนำเสนอต่อส.ส.อังกฤษภายในวันจันทร์ที่ 21 มกราคม

เมย์ยืนยันในสภาว่าเธอจะยึดมั่นกับแผนนี้ และท่ามกลางความสับสนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดผลตามมา 6 ข้อดังต่อไปนี้ และบางข้ออาจจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

1. มีการเจรจาใหม่

เนื่องจากรัฐบาลแพ้คะแนนโหวตมากทำให้เกิดความสงสัยว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษจะสามารถแก้ไขข้อตกลงเพื่อเปลี่ยนใจบรรดา ส.ส.ได้หรือ และเมย์และทีมงานอาจเชื่อว่ามี ส.ส.จำนวนมากใกล้ที่จะเปลี่ยนข้างแล้ว ดังนั้นจึงต้องดูว่าเธอจะรีบลนลานไปบรัสเซลส์เพื่อพยายามให้อียูยอมอ่อนข้อลงอีกหรือไม่

ประเด็นสำคัญที่ยังติดอยู่คือเรื่องด่านตรวจชายแดนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นเครือข่ายความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งยังคงเป็นสมาชิกอียูเข้าออกพรมแดนได้ยาก ผู้ที่วิจารณ์เมย์มองว่าเงื่อนไขนี้เป็นแนวทางว่าอังกฤษอาจจะผูกโยงกับอียูโดยไม่สิ้นสุด

อียูได้พยายามให้ความมั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น แต่พรรคการเมืองของไอร์แลนด์เหนือที่สนับสนุนพรรคของเมย์ในรัฐบาลอังกฤษในขณะนี้ ได้กล่าวว่ายังไม่เพียงพอ

2. เลือกตั้งทั่วไป

เจเรมี่ คอร์บีน ผู้นำพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้กล่าวว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลของเทเรซา เมย์ ในวันพุธ และมีการคาดการณ์ว่าจะรู้ผลโหวตภายในเวลาหนึ่งทุ่มของวันพุธตามเวลาอังกฤษ หรือประมาณเที่ยงคืนตามเวลาในประเทศไทย

หาก ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลของเธอ สภาชุดปัจจุบันจะมีเวลา 14 วันเพื่อตกลงจัดเตรียมรัฐบาลใหม่ที่จะปกครองประเทศ แต่หากตกลงกันไม่ได้ก็น่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ดี อียูได้กล่าวไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงผู้นำอังกฤษจะไม่เปลี่ยนแปลงท่าทีของอียู

3. ลงประชามติครั้งที่สอง

การลงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 เกี่ยวกับการเป็นสมาชิกของอียูเป็นการสำรวจความเห็นเพื่อขอคำปรึกษาที่ไม่มีข้อผูกมัดแต่สมาชิกรัฐสภาดันไปสัญญากับประชาชนว่าจะทำตามผลที่ออกมา

ในขณะนี้มีแรงส่งมากขึ้นให้จัดลงประชามติเป็นครั้งที่สอง ผู้ที่สนับสนุนให้จัด ให้เหตุผลว่าจะช่วยวัดความต้องการของประชาชนที่จะออกจากอียู ซึ่งในขณะนี้ประชาชนมีแนวคิดที่ชัดเจนมากขึ้นว่ามันหมายถึงอะไร แต่ฝ่ายที่วิจารณ์การลงประชามติรอบสองได้กล่าวว่าจะเป็นการมองข้ามและดูหมิ่นกระบวนการลงคะแนนในตอนแรก

4. ขยายเวลาตามมาตรา 50

มีบางคนเชื่อว่าการเจรจาใหม่ระหว่างอียูและอังกฤษยังเป็นไปได้ อังกฤษและไอร์แลนด์เหนือมีกำหนดที่จะออกจากอียูในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ดังนั้นความพยายามใด ๆ ที่จะผ่าตัดใหญ่เพื่อข้อตกลงที่มีอยู่ น่าจะต้องใช้เวลาอีกมาก ซึ่งนั่นหมายถึงว่าจะต้องขยายเวลาตามมาตรา 50 ซึ่งเป็นวิธีการทางกฎหมายสำหรับประเทศที่จะออกจากการเป็นสมาชิกอียู การกดปุ่มใช้มาตรา 50 ของเมย์เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ได้นับถอยหลังอังกฤษออกจากอียูในเวลา 2 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 29 มีนาคม 2562

นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ อินเวสเมนต์ โซลูชัน กล่าวว่า เทรดเดอร์เงินได้เดิมพันมากขึ้นว่า จะมีการขยายเวลาในการนับถอยหลังอังกฤษออกจากอียู อย่างไรก็ดี การขยายเวลาจะต้องให้สมาชิกอียู 27 ชาติรับรองซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะอนุมัติให้ขยายในสถานการณ์ไหนและนานเท่าไหร่

5. ไม่มีข้อตกลง Brexit

การเคลื่อนไหวใด ๆ เพื่อลงประชามติรอบสองหรือขยายมาตรา 50 จะทำให้เกิดการคาดการณ์มากขึ้นว่าอังกฤษจะไม่ออกจากอียูจริง และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เมย์ได้ปราศรัยว่า การกล่าวอ้างผลที่จะออกมาว่าจะไม่มีข้อตกลง Brexit จะสร้างหายนะต่อศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบบการเมืองอังกฤษ

ทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้อ้างในขณะนี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ ส.ส.จะหาทางยับยั้งข้อตกลง Brexit มากกว่าที่อังกฤษจะออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ

6. อังกฤษออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง

หากอียูไม่ขยับเขยื้อน และสมาชิกรัฐสภาอังกฤษไม่สามารถรับรองข้อตกลงได้ ก็มีเค้าลางว่าอังกฤษอาจจะออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง บทวิเคราะห์หลาย ๆ ชิ้นได้เตือนว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมากหากอังกฤษออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง รายงานของธนาคารกลางอังกฤษเมื่อปลายปี 2561 ชี้ว่า หากเกิดสถานการณ์เช่นนั้น การว่างงานอาจเพิ่มเป็น 7.5% และราคาบ้านอาจลดลง 30% เงินปอนด์อาจจะพังทลาย และเศรษฐกิจอังกฤษอาจหดตัวประมาณ 8% ในเวลา 1 ปี

ในขณะที่พวกฮาร์ดคอร์ที่สนับสนุนให้อังกฤษออกจากอียูต้องการให้อังกฤษและไอร์แลนด์เหนือออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง แต่มีความเห็นพ้องกันโดยทั่วไปว่านี่คือความเห็นของเสียงส่วนน้อยในสภา

Source: ข่าวหุ้น

เพิ่มเติม
- Brexit: What happens now?
https://www.bbc.com/news/uk-politics-46393399

0 Share