อังค์ถัด เผย เอฟดีไอไหลทะลักเข้าอาเซียนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 11% เมื่อปี 2561 อานิสงส์จากช่วงขาลงของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงทั่วโลกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

ในฐานะเป็นภูมิภาคที่น่าดึงดูดใจในสายตานักลงทุนต่างชาติเพราะเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ต้นทุนการทำธุรกิจต่ำ และมีความเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี

เว็บไซต์นิกเคอิ นำเสนอรายงานโดยอ้างข้อมูลของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ว่า ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกที่หลายประเทศกำลังรู้สึกวิตกกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กลับได้ประโยชน์ในฐานะที่เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจต่ำ จึงดึงดูดบรรดาบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาลงทุนโดยตรง ส่งผลให้เม็ดเงินที่เกิดจากการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ในภูมิภาคนี้เมื่อปี 2561 เพิ่มขึ้นมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11% หรือคิดเป็นมูลค่า 145,000 ล้านดอลลาร์

อังค์ถัด ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้แค่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้ามามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่เอฟดีไอของภูมิภาคนี้ยังมากกว่ายุโรป มากกว่าเอฟดีไอจีนเล็กน้อยและมากกว่าเอฟดีไอในภูมิภาคเอเชียใต้เกือบสามเท่าตัวด้วยกัน

"ท่ามกลางภาวะที่เอฟดีไอทั่วโลกลดลง 19% ในปี 2561 แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่น ไม่เหมือนใคร เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในแง่ประชากรศาสตร์ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็ว มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ต่ำ และมีความเป็นบรรษัทภิบาลค่อนข้างดี ประกอบกับ การที่ห่วงโซ่มูลค่าทั่วโลกโดยรวมอยู่ในภูมิภาคเอเชีย จึงทำให้อาเซียนมีความน่าดึงดูดใจในสายตาบริษัทข้ามชาติ"ปูชาน ดัตต์ นักวิชาการจากสถาบันด้านธุรกิจอินซีดในสิงคโปร์ ให้ความเห็น

ในส่วนของประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่น่าสนใจของบรรดานักลงทุนข้ามชาติ สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเมื่อปีที่แล้วได้ 11,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าและถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ส่วนเวียดนาม มียอดเอฟดีไอสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันที่ 19,000 ล้านดอลลาร์

แต่ประเทศที่ดึงดูดเอฟดีไอมากที่สุดของภูมิภาค คือ สิงคโปร์ มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ รองลงมา คือ อินโดนีเซีย มูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว และบรูไน

บริษัทข้ามชาติที่ลงทุนโดยตรงในภูมิภาค รวมถึง ไดสัน บริษัทด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีจากอังกฤษ ที่ตัดสินใจใช้สิงคโปร์เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยก่อสร้างโรงงานผลิตเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทจะพร้อมออกสู่ตลาดในปี 2564

นายจิม โรแวน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทไดสัน ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจากอังกฤษ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากผลงานพัดลมไร้ใบพัดและเครื่องดูดฝุ่นไร้สายพลังแรง แถลงว่าบริษัทตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสิงคโปร์ และมีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2563 ก่อนจะนำรถยนต์เข้าสู่ตลาดในปี 2564

ซีอีโอไดสัน ให้เหตุผลที่เลือกสิงคโปร์เป็นฐานการผลิตว่า สิงคโปร์มีระบบซัพพลายเชนที่ครอบคลุม มีช่องทางการเข้าถึงตลาด และมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายในการทำธุรกิจได้

นอกจากนี้ สิงคโปร์ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อที่ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดที่มีโอกาสขยายตัวสูง โดยปัจจุบัน ไดสัน มีการจ้างงานในสิงคโปร์อยู่แล้วประมาณ 1,100 คน ทั้งยังมีโรงงานประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อยู่แล้วใน 3 ประเทศในอาเซียนคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ขณะที่ อิออน ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น เปิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แห่งที่2ในกัมพูชาเมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของแผนขยายธุรกิจค้าปลีกให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค และปีนี้ บริษัทมีแผนเปิดศูนย์ช็อปปิ้งแห่งใหม่ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนามและในโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย

เช่นเดียวกับฮาร์เลย์ เดวิดสัน ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์สัญชาติอเมริกัน รุกตั้งโรงงานผลิตแห่งใหม่ในไทย ส่วนอินโนเท็ค แอลจี บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ทุ่มเงิน 500 ล้านดอลลาร์ตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม

"เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีจุดแข็งในการดึงดูดเอฟดีไอ ในฐานะเป็นประเทศมีแรงงานมีคุณภาพ และเมืองไฮฟงของเวียดนามก็เหมาะที่จะใช้เป็นโรงงานผลิตสินค้าของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทได้เปรียบในแง่ของการแข่งขัน"นายเคน ฮง โฆษกบริษัทอินโนเท็ค แอลจี กล่าว

นอกจากนี้ วอลมาร์ท ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ได้เข้าซื้อหุ้นในฟลิปคาร์ท บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติอินเดียในวงเงิน 18,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทาโค เบลล์ ประกาศแผนเปิดร้านอาหารแห่งใหม่อีกหลายร้อยแห่งทั่วเอเชีย

ส่วนเวียดนาม ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า อิเกีย เครือข่ายผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลกสัญชาติสวีเดนจะลงทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อเปิดร้านค้าปลีกและสร้างโกดังสินค้าในกรุงฮานอย แม้อิเกียจะระบุว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเม็ดเงินลงทุน

"ในเวียดนาม เชื่อมั่นว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่มีจุดเด่นด้านการดีไซน์และใช้งานได้หลากหลายฟังก์ชั่นแถมมีราคาถูกจะตอบโจทย์ผู้บริโภคเวียดนามยุคใหม่ได้ และการที่เราเจาะตลาดเวียดนามได้ก็เหมือนเราเจาะตลาดทั้งภูมิภาคได้" โฆษกอิเกีย กล่าว

Source: กรุงเทพธุรกิจ

0 Share