ซีอีโอประสานเสียงวิกฤติโควิด-19 กระทบหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เหตุผลกระทบลามทุกภาคส่วนบน-ล่างทั่วโลก ชี้เศรษฐกิจหลังโควิด โจทย์ใหญ่ประเทศ จี้เร่งวางแผนรับมือผลกระทบ หนุนมาตรการรัฐช่วยทุกภาคส่วนจบวิกฤติให้เร็ว ก่อนธุรกิจอั้นไม่ไหวขาดสภาพคล่อง ปลดแรงงาน

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ก่อตัวขึ้นในเมื่อต้นปี 2563 ผ่านไป 3 เดือน ผลกระทบยังคงลุกลามหนัก กลายเป็นวิกฤติโลก กระทบทั่งวิถีชีวิตผู้คน วิถีการดำเนินธุรกิจ จากกิจกรรมต่างๆที่ต้องหยุดชะงัก กักตัวเพื่อสกัดการระบาดของไวรัส ล็อกดาวน์ในหลายประเทศ เกิดสังคมระยะห่าง (Social distancing)

ในประเทศไทย ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อหวังระงับการแพร่ระบาดอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมไปกับการอัดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ล่าสุดกับกับการอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

"กรุงเทพธุรกิจ" สอบถามไปยัง "ซีอีโอ" หลากหลายองค์กรธุรกิจในไทย เพื่อรับฟังมุมมองผลกระทบวิกฤติโควิด-19 เทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 พร้อมกับการประเมินมาตรการเยียวยาของรัฐว่า เพียงพอต่อขนาดของปัญหาหรือไม่ โดย ซีอีโอส่วนใหญ่ซึ่งผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว ต่างระบุว่า วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ รุนแรงยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

 

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ (เอไอเอส) : ครั้งนี้ "เจ็บกว่า" และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19ยิ่งใหญ่และหนักสาหัสกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 มาก เพราะปี 2540 กระทบกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่กู้เงินจากต่างประเทศมาใช้ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบน้อย เรียกว่า "เจ็บแต่จบ" เพราะรู้สาเหตุและวิธีแก้ไข ที่เหลือแค่ทำให้สำเร็จ

ขณะที่วิกฤติ โควิด-19กระทบกับทุกภาคส่วน ทุกอุตสาหกรม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ตลอดจนการใช้ชีวิตของคนทุกคนในประเทศ ซึ่งในช่วงชีวิตคนที่อยู่ในปัจจุบันไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ครั้งนี้ "เจ็บกว่าและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ" เพราะมาตรการต่างๆ ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพียงแค่ป้องกัน ยับยั้งไม่ให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลงไป

"วัคซีน" คือหนทางจบปัญหา

"ต้องรอวัคซีนเข้ามา จึงจะเห็นทางสว่างที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ที่สำคัญหลังวิกฤติโควิด-19 นี้ เราจะพบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการทำธุรกิจ และที่สำคัญการใช้ชีวิตแบบใหม่ ที่แตกต่างจากที่เราเคยชินอยู่ในปัจจุบัน"

สำหรับมาตรการต่างๆที่รัฐบาลออกมาในปัจจุบันนี้ นับว่าบูรณาการที่ดีขึ้นจากเดิมมาก แม้ว่าจะล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

จี้รัฐวางแผนรับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐคิดแผนล่วงหน้าที่ต้องเตรียมไว้สำหรับการรองรับผลกระทบต่างๆจากแนวทางที่ประกาศออกมา เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในแนวทางดังกล่าว และพร้อมที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

"ส่วนสำคัญที่ต้องเพิ่มอีกมาก คือ สร้างการตระหนักรู้และปฏิบัติให้ได้จริงกับประชาชนว่า วิกฤติโควิด-19นี้ คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤติด้วยกัน ใครช่วยอะไรได้ก็ต้องมาช่วยกัน หากช่วยอะไรไม่ได้ ก็ต้องอยู่บ้าน รักษาระยะห่างกับผู้คน ใส่หน้ากากเวลาออกไปไหน รักษาสุขอนามัย ก็ถือว่ามีส่วนร่วมในการแก้วิกฤติครั้งนี้ได้แล้ว"

เร่งตัวสู่ "ดิจิทัลเต็มรูปแบบ"

นายสมชัย กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคส่วนก้าวสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และเชื่อว่าหลังจากที่วิกฤติผ่านพ้นไปหลายๆธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนบิซิเนส โมเดลให้อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

สุรช ล่ำซำ (ล็อกซเล่ย์) : ทุกธุรกิจต้องหา "ทางรอด" ของตัวเอง

นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ไทยโดนหนักกว่าครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 40 ที่ส่วนใหญ่ไปกระทบกับสถาบันการเงินเป็นหลัก แต่ครั้งนี้กระทบทุกคน ทุกกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นโรคระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ทุกธุรกิจต้องหา "ทางรอด" ของตัวเอง

"วิกฤติครั้งนี้ ทำให้วิธีการทำงาน วิธีการเดินทาง มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่อินฟราสตรัคเจอร์ด้านไอที มีบทบาทสำคัญมากในครั้งนี้ แน่นอนว่า ต่อไปเราจะเห็นโมเดลต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งผมคิดต่างจากคนอื่นว่าโควิด-19 จะไม่ได้จบลง แต่มันจะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราต่อไป ซึ่งมนุษย์จะหาทางแก้ปัญหา และสร้างภูมิคุ้มกันได้ในที่สุด" นายสุรช กล่าว

บัณฑูร ล่ำซำ (กสิกรไทย) : ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพราะความรู้แบบเดิมช่วยไม่ได้

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหากเทียบกับ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” กับ “วิกฤติโรคระบาด” ครั้งนี้ นับเป็นพายุคนละแบบ วิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นพายุของความโลภของมนุษย์ที่เกินพอดี ก็เกิดความเสียหาย ความเจ็บปวดต่อชีวิตมนุษย์ ขณะที่โรคระบาดเป็นอะไรที่จะโทษมนุษย์โดยตรงไม่ได้ แต่ว่าก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์เช่นเดียวกัน เกิดการหยุดชะงักของการทำมาหากิน และไม่มีตัวอย่างหรือรูปแบบวิธีการแก้ปัญหาให้เห็นมาก่อน

โชคดีที่วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดโรคระบาดครั้งนี้ แม้มีผลกับเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงินได้ตุนเสบียงสำรองไว้พอสมควร ต่อให้เกิดการถดถอยสืบเนื่องมาจากการที่ผู้คนทำงานไม่ได้ตามปกติค้าขายไม่ได้ตามปกติ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับได้ แม้สูญเสียกำไรไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่หากไม่ได้มีทุนสำรองเอาไว้เลยก็คงจะเดือดร้อน

ส่วนการฟื้นฟู รัฐบาลช่วยเต็มที่ เยียวยาผู้ประสบความเดือดร้อน ระบบธนาคารพาณิชย์ก็ช่วยเป็นที่พึ่งพิงได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องดูอีกว่าโรคนี้จะลากยาวแค่ไหน ถ้าลากยาวผลกระทบทางเศรษฐกิจก็มาก ก็หวังว่ามาตรการต่างๆที่ทำเข้มขึ้นมากขึ้นทุกวันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายแพทย์ดูเสมือนว่าจะมีความหวังว่าจะสกัดได้

"นี่เป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้เตรียมการไว้ รัฐบาลไม่ได้กู้เงินมากเกินไปในอดีต เพราะครั้งนี้จำเป็นต้องกู้เงินมาเยียวยารักษาเศรษฐกิจก็ยังพอมีช่องที่จะทำได้ แต่ก็จะตึงๆหลังจากนี้ รัฐบาลก็จะตึง ธนาคารก็จะตึงระบบการเงินก็จะตึงแต่ก็ยังเชื่อว่ารับได้"

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยหลังโรคระบาด จะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศ เมื่อโรคระบาดหายไป จะกลับมาทำมาหากินแบบเดิมๆอย่างไร หรือจะหาวิชาชีพแบบใหม่ให้คนไทย ทำงานได้ดีกว่าเดิม ด้วยการหาองค์ความรู้ใหม่ เพราะโลกแข่งขันกันมากบนความรู้ใหม่ การศึกษา การวิจัยต่างๆต้องเพิ่มขึ้น เพราะประเทศที่ไม่มีการพัฒนาความรู้ใหม่ ไม่มีทางสู้ใครได้ ไม่มีทางที่ความเป็นอยู่ประชาชนจะดีขึ้น ซึ่งเรื่องขององค์ความรู้เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เป็นพายุลูกใหม่ที่ไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้ในโลกนี้ จึงต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพราะความรู้แบบเดิมช่วยไม่ได้

ณรงค์ชัย อัครเศรณี (เอ็มเอฟซี) : เวลานี้ สภาพคล่อง ก็เหมือนออกซิเจน หากปอดติดไวรัส ก็หมดสภาพคล่อง เศรษฐกิจก็พัง

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติร้ายแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะผลกระทบรุนแรงกว่า กระทบเป็นวงกว้างต่างกับปี 2540 ที่กระทบจากปัญหาสภาพคล่องของคนระดับบน บริษัทขนาดใหญ่ ลามไปสู่สภาพคล่องของสถาบันการเงิน

ส่วนมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ออกมา ถือว่าทำได้เร็วกว่าปี 2540 ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปถึงระดับบน

"เวลานี้ สภาพคล่อง ก็เหมือนออกซิเจน หากปอดติดไวรัส ก็หมดสภาพคล่อง เศรษฐกิจก็พัง ทำให้ต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เช่น กลุ่มหาเช้ากินค่ำ ตายแน่นอนหากไม่มีเงิน และต้องเร่งช่วยธุรกิตรายเล็ก รายกลาง เพราะขณะนี้ขาดสภาพคล่อง ให้กลุ่มนี้กู้อาจไม่ได้เพราะหนี้ก็มีมาก ขณะที่การกู้ก็คงไม่ง่ายในภาวะนี้ ดังนั้นอย่าใช้วิธีกู้เงินแต่ให้ช่วยเรื่องลดรายจ่าย"

นอกจากนี้มาตรการของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ออกมา ก็ถือเป็นมาตรการที่ดี เช่น การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) โดยให้แบงก์ไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นการโฟกัสไปที่สภาพคล่อง ไปเพิ่มออกซิเจนให้สังคมไม่ว่าระดับใด ให้ได้มีโอกาสหายใจในช่วงนี้ เหมือนที่แพทย์ช่วยคนป่วยจากไวรัสโควิด-19 เป็นการต่อลมหายไปให้หายใจต่อไปได้

อีกมาตรการคือการเข้าไปดูแลด้านสภาพคล่องให้กับตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร หุ้นกู้ต่างๆ มองว่าเป็นมาตรการที่ดี และทำได้ดีกว่าปี 2540 การที่ธปท.ออกมาช่วยดูแลด้านสภาพคล่อง ถือว่าถูกต้อง เพื่อช่วยไม่ให้ เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่ให้เกิดการวิตก ไม่ใช่เกิดการตื่นตระหนกจนแห่ถอนเงิน เหมือนกรณีที่เกิดกับเลห์แมน บราเธอร์ส ในอดีต ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ ในการเข้าไปช่วยดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ เพื่อหยุดความตื่นตระหนก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่ทำเพื่อคนรวย แต่ช่วยประคองทั้งระบบ

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

0 Share