เคยได้ยินคำว่า "เครดิตบูโร" กันไหมครับ??

เวลาเราไปยื่นขอสินเชื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือกระทั่งบัตรเครดิต

พนักงานก็จะเอาเอกสารให้เซ็น เพื่อขอตรวจข้อมูลเครดิตบูโรของเรา

หรือเวลาที่ชำระหนี้ล่าช้าไปหลายงด

ก็จะมีคำพูดว่า ประวัติไม่ดี ติดเครดิตบูโรนะ

ทำให้เกิดความสงสัยว่าไอ้เจ้า "เครดิตบูโร" นี่มันคืออะไรกันแน่?? เราเลยขอพาคุณไปรู้จักกันให้มากขึ้นครับ...


ต้นกำเนิดของ "เครดิตบูโร"

ที่จริงไทยเรานั้นมีแนวคิดจะทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 แล้ว

แต่สุดท้าย เครดิตบูโร หรือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ถือกำเนิดขึ้นมาจริงๆ จังๆ เมื่อปี พ.ศ. 2541

(หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งนั่นเอง)

เป้าหมายก็เพื่อเป็นองค์กรกลางสำหรับเก็บบันทึกข้อมูลทางการเงิน ของประชาชนและบริษัทต่างๆ

ซึ่งจะทำให้สมาชิกที่เป็นสถาบันการเงินทั้งหลาย สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้ ความสามารถในการชำระเงินคืน

และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จากหนี้เสีย หรือโดนชักดาบนั่นเอง


เครดิตบูโร เก็บข้อมูลอะไรบ้าง??

ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้กับเครดิตบูโร จะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ

1. ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ สถานภาพการสมรส

2. ข้อมูลด้านสินเชื่อทุกรูปแบบ ทั้งสินเชื่อบ้าน รถ การค้ำประกัน รวมถึงประวัติการชำระหนี้อีกด้วย

เครดิตบูโรนั้นเป็นเพียงแหล่งเก็บข้อมูลเท่านั้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ ก็มาจากสมาชิกที่เป็นทั้งธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน หรือบริษัทบัตรเครดิต

เหล่าสมาชิกก็จะส่งข้อมูลของลูกค้าเข้ามาจัดเก็บเอาไว้รวมในที่เดียวกัน แล้วก็สามารถเรียกดูได้ร่วมกัน

สมมติว่าคุณเป็นหนี้บ้านกับธนาคาร A เป็นหนี้รถยนต์ธนาคาร B และมีหนี้บัตรเครดิตธนาคาร C

แล้วคุณไปขอกู้เงินกับธนาคาร D พอพวกเขาเข้ามาตรวจในเครดิตบูโร ก็จะรู้ว่าคุณมีหนี้ถึง 3 แห่งอยู่นะ


การขอดูข้อมูลเครดิตบูโร??

คนที่สามารถดูข้อมูลเครดิตบูโรของคุณได้ จะมีแค่ 2 ฝ่ายเท่านั้น

ฝ่ายแรกคือสถาบันการเงินที่คุณไปขอสินเชื่อ ซึ่งคุณเองก็ต้องทำเอกสารยินยอมให้ดูได้ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของคุณนั่นเอง

อีกฝ่ายก็คือตัวเราเอง (สามีภรรยาไปขอแอบดูก็ผิดกฎหมายนะ) สำหรับคนที่อยากตรวจสอบประวัติการชำระเงินของตัวเอง หรือเช็คว่ามีใครเอาชื่อเราไปก่อหนี้ที่เราไม่รู้ไว้รึเปล่า

ซึ่งการตรวจก็สามารถทำได้ง่ายๆ ที่เคาน์เตอร์ธนาคารทุกสาขานั่นเอง


ข้อมูลถูกต้องแค่ไหน? แล้วถ้ามีประวัติไม่ดีหล่ะ??

ข้อมูลในเครดิตบูโรนั้น มีข้อกำหนดว่าสมาชิกต้องส่งข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันที่สุด

ปกติแล้วการผ่อนชำระหนี้ของคุณ รวมไปถึงการปลดหนี้ จะได้รับการอัพเดททุกเดือน

อาจจะล่าช้าไปนิดหน่อย เพราะสถาบันการเงินเองก็ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนนำส่ง

(บันทึกข้อมูลเป็นเท็จ มีค่าปรับรายการละ 300,000 บาท และวันละ 10,000 บาททุกวันจนกว่าจะแก้ไข ก็ให้เค้าตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนแล้วกัน ฮ่าๆ)


โดยปกติแล้วข้อมูลของบุคคลทั่วไป จะถูกบันทึกเอาไว้ในเครดิตบูโรให้เรียกดูย้อนหลังได้ 3 ปี

ขณะที่นิติบุคคล (บริษัท ห้างร้าน) จะถูกบันทึกเอาไว้ในเครดิตบูโร 5 ปี


ติด Blacklist เครดิตบูโร เป็นยังไงกัน??

คือ... ต้องชี้แจงก่อนว่า "แบล็คลิสต์" หรือ "ติดบัญชีดำ" ของเครดิตบูโร ไม่มีอยู่จริง

อ่าว งงล่ะสิ!?

ที่จริงมันเป็นแค่คำเรียกติดปากของคนที่มีประวัติการเงินไม่ค่อยดี ค้างชำระนานๆ พอไปขอกู้ครั้งหน้าเลยกู้ไม่ได้

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าตัวเองติดบัญชีดำ โดนเครดิตบูโรกาชื่อเอาไว้ว่าคนนี้ห้ามปล่อยกู้นะ

จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น...

เพราะเครดิตบูโร จะแสดงว่าคนนี้มีหนี้สินอะไรอยู่บ้าง แล้วมีประวัติการชำระเงินเป็นอย่างไร

เครดิตบูโร ไม่สามารถตัดสินว่าใครจะมีสิทธิ์กู้หรือไม่

ส่วนการพิจารณาว่าจะให้สินเชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินเท่านั้นเลยครับ


อธิบายให้เห็นภาพง่ายขึ้น

คุณ A เคยค้างชำระหนี้ค่าบ้านเกิน 90 วัน แถมยังมีหนี้เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้

แต่ตอนนี้เขาผ่อนบ้านหลังเก่าหมดแล้ว เลยไปขอกู้ซื้อบ้านอีกหลัง

ธนาคารเดิมก็ประเมินว่ามันเสี่ยงเกินไปที่จะปล่อยเงินกู้ให้ ก็เลยตัดสินใจไม่อนุมัติเงินกู้

แต่พอไปขอสินเชื่อกับธนาคารอีกแห่ง อาจจะประเมินว่าคุณ A นั้นน่ามีความสามารถผ่อนชำระบ้านหลังใหม่นี้หมดได้

แถมธนาคารมีโอกาสได้ดอกเบี้ยจากคุณ A มากขึ้น เพราะโดนปฏิเสธมาหลายแห่ง

ธนาคารอีกแห่งก็อาจจะปล่อยให้ได้ เป็นดุลยพินิจที่แตกต่างกันไปนั่นเอง


เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นหนี้ก็คือ ทำตัวเป็นลูกหนี้ที่ดี ชำระเงินให้ตรงเวลา

นั่นจะทำให้คุณมีเครดิตที่น่าเชื่อถือ สำหรับการยื่นขอสินเชื่อในครั้งต่อๆ ไปนั่นเอง


หวังว่าข้อมูลที่เพจแนวคิดพันล้านสรุปมา จะช่วยให้หลายคนเข้าใจ "เครดิตบูโร" กันได้มากยิ่งขึ้นนะครับ

ส่วนใครที่ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม พิมพ์มาในคอมเม้นต์ ผมเองและลูกเพจคนอื่นๆ อาจจะช่วยกันตอบให้ได้ในบางจุด

แต่ถ้าให้หายข้องใจจริงๆ สามารถติดต่อบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ

แฟนเพจ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

เว็บไซต์ https://www.ncb.co.th/faq

หรือโทรสอบถามโดยตรงที่คอลเซ็นเตอร์ 02-643-1250 ได้เลยนะครับ


Cr.BillianairTH


ติมตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้


 

0 Share