ตลอดช่วง 10 ปีมานี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐที่ลุกลามไปทั่วโลกเมื่อปี 2008 และกินเวลาต่อเนื่องไปอีกราว 2-3 ปี ตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนเคยเผชิญคลื่นสึนามิกันมาแล้วทั้งนั้น
โดยฝั่งสหรัฐเผชิญคลื่นระลอกหนักสุดในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และช่วงรอยต่อ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคยเจอวันหุ้นถล่ม Flash Crash วันเดียวร่วงเกือบ 1,000 จุดมาแล้วเมื่อปี 2010
ส่วนฝั่งตลาดเกิดใหม่นั้นเจอแรงกระเพื่อมหนักสุดในช่วง Taper Tantrum ปี 2013 หรือเมื่อครั้งที่ เบน เบอร์แนนคี อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในขณะนั้นส่งสัญญาณว่าจะยุติมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่ทำให้เกิดภาวะทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อย่างหนัก จนเฟดต้องออกมาส่งสัญญาณใหม่ระงับความปั่นป่วนของตลาดในเวลาต่อมา
ทว่า หากนับกันรวมตลอดทั้งปี นับตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงพีกของแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสไปแล้ว อาจไม่มีปีไหนที่ตลาดหุ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ จะปั่นป่วนได้มากเท่ากับในปี 2018 นี้อีกแล้ว โดยเฉพาะในเดือนแดงเดือด ธ.ค.ที่ใกล้จะได้ฉายาใหม่ว่า "ธันวาทมิฬ"
ซีเอ็นบีซีรายงานว่า เดือน ธ.ค. 2018 นี้ อาจทุบสถิติเป็นเดือนธันวาทมิฬที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ และดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทำผลงานได้แย่ที่สุด นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 1931 เป็นต้นมา หลังจากที่ดาวโจนส์ร่วงลงไปแล้วราว 7.8% และเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 7.6% เฉพาะในเดือนนี้
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดลบไป 54.01 จุด หรือ 2.08% ปิดที่ 2,545.94 จุด ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2017 หรือทะลุจุดต่ำสุดช่วงที่เกิดแรงเทขายหนักทั่วโลกเมื่อเดือน ก.พ.ปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว มูลค่าดัชนีหายไปแล้วถึงราว 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาด ลบ 507.5 จุด หรือ 2.11% ไปปิดที่ 23,592.98 จุด และดัชนีแนสแด็ก คอมโพสิต ลบ 156.9 จุด หรือ 2.27% ปิดที่ 6,753.73 จุด แรงเทขายอย่างหนักในตลาดสหรัฐยังส่งผลให้ตลาดหุ้นในเอเชียและยุโรปวานนี้ปิดลบตามด้วย เนื่องจากตลาดกังวลผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงสงครามการค้าและความเสี่ยงทางการเมืองว่าอาจฉุดเศรษฐกิจปีหน้าลง
ยิ่งใกล้วันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ตลาดหุ้นก็ยิ่งออกฤทธิ์ออกเดช Markets tantrum ตามที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นแรงกดดันเฮือกสุดท้ายก่อนที่เฟดจะประกาศนโยบายดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปี 2018 และคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของปีหน้าต่อไป
ที่ผ่านมา เฟดได้ส่งสัญญาณยืนยันมาตลอดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้รวม 4 ครั้ง หรือหมายถึงขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ อีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 2.25-2.5% เพราะปัจจัยพื้นฐานหลายตัว อาทิ อัตราว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ล้วนบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งมากพอที่จะรองรับยุคดอกเบี้ยขาขึ้นได้แล้ว
ทว่า หลังจากที่ เจอโรม พาวเวลล์ ผู้ว่าการเฟดส่งสัญญาณใหม่เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ดอกเบี้ยในปัจจุบันใกล้แตะระดับสมดุลแล้ว ก็ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มมีความหวังอีกครั้งว่า อาจไม่ต้องรอให้เฟดไปชะลอการขึ้นดอกเบี้ยกันในปีหน้า แต่อาจเริ่มได้เลยตั้งแต่ปัจจุบันกับการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ในปีนี้ เพราะปัจจัยหลายอย่างกำลังเริ่มสุกงอมเพียงพอ
ปัจจัยที่ตลาดให้น้ำหนัก ก็คือ ปีหน้า 2019 จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงข่าวร้ายมากกว่าดี ทั้งสงครามการค้าโลกที่แค่สงบศึกแต่ยังไม่จบดี ทั้งความเสี่ยงทางการเมืองในต่างประเทศและในสหรัฐเอง ที่จะต้องฟาดฟันเรื่องงบประมาณและเพดานหนี้สาธารณะกันอีก ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกเริ่มออกมาปรับลดหรือส่งสัญญาณว่าจะปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งโลกกันแล้ว หากเป็นเช่นนี้สหรัฐเองก็ไม่แคล้วต้องชะลอตัวลงตามด้วย และเป็นเหตุผลเพียงพอให้เฟดต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ตอนนี้เลย
แม้แต่บทบรรณาธิการของวอลสตรีท เจอร์นัล ก็สนับสนุนให้เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า บริบทของดอกเบี้ยสหรัฐในปัจจุบันไม่ใช่การ "ยื้อดอกเบี้ยในอัตราต่ำเกินไป เป็นเวลานานเกินไป" เหมือนกับยุคของ อลัน กรีนสแปน และเบน เบอร์แนนคี 2 อดีตผู้ว่าการเฟด อย่างน้อยที่สุดก็คือราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์โลกในวันนี้ไม่ได้อยู่ในระดับที่แพงเหมือนอดีต และจึงทำให้อัตราดอกเบี้ยแทบไม่ขยับขึ้นตามไปด้วย
ตลอดทั้งปีนี้ ราคาน้ำมันโดยรวมอยู่ในภาวะขาลง และแม้จะขึ้นมาได้ในช่วงสั้นๆ จากความกังวลที่สหรัฐดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ แต่ราคาน้ำมันก็ยังถูกกดจากปัจจัยโอเวอร์
ซัพพลายที่นำโดยสหรัฐอยู่ แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) จะร่วมมือกับพันธมิตรนอกกลุ่มอย่างรัสเซีย เตรียมลดกำลังการผลิตลง แต่ในภาพรวมก็อาจจะยังไม่มากพอที่จะลดซัพพลายอย่างมีนัยได้ และเมื่อรวมความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตได้น้อยลงจากความเสี่ยงทั้งจีน สงครามการค้า เบร็กซิต หรือแม้แต่ดอลลาร์ที่แข็งค่าไป 17 เดือนแล้ว จึงทำให้ล่าสุดราคาน้ำมันลงเมื่อวานนี้ดิ่งลงวันเดียวถึง 4% หรือลงไปราว 2 ดอลลาร์
เมื่ออัตราเงินเฟ้อไม่ขึ้น แรงกดดันที่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยให้กลับสู่ยุคนโยบายการเงินปกติ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รายล้อมในปีหน้า จึงลดลงตามไปด้วย และยังมีคำถามเกิดขึ้นด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยที่ "ปกติ" ในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ควรอยู่ที่ระดับใดกันแน่
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่า อัตราจีดีพีสหรัฐที่โตเฉลี่ยได้มากกว่า 3% ในปีนี้ พร้อมอัตราว่างงานที่ 3.7% หรือต่ำสุดในช่วงราว 5 ทศวรรษ จะทำให้เฟดยังสามารถฝ่าแรงต้านของตลาดทุนโลกและแรงกดดันของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไปขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของปีนี้ได้สำเร็จ และค่อยผ่อนสัญญาณเรื่องการทยอยขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนี้ลง โดยอาจลดคาดการณ์ดอกเบี้ยปีหน้าในรายงาน Dot Plot ออกไปเหลือ 1-2 ครั้ง และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในปีหน้าต่อไปแทน
ไม่ว่าจะคงหรือจะขึ้น เฟดก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ และเป็นอีกครั้งที่ทั่วโลกต้องเป็นฝ่ายก้มหน้าปรับตัวเปลี่ยนแปลงรับนโยบายของสหรัฐ
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday
ติดตามข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจรอบโลกได้ที่ คลิ๊ก
เข้ากลุ่มนักเทรดใน Facebook คลื๊ก นี้
สนใจเรียนรู้การเป็นTrader กับกูรู คลิ๊ก