หากกล่าวถึงเศรษฐกิจที่เติบโตใน ระดับสูงต่อเนื่อง แน่นอนว่า หนึ่งในนั้น คือ เศรษฐกิจจีน โดยหากย้อนไปในช่วงปี 2000-2010 เศรษฐกิจจีนเติบโตเฉลี่ยถึง 10.4% ต่อปี

ต่อมาหลังจากปี 2011 จีนเริ่มมีเศรษฐกิจชะลอลง เนื่องจากต้องการจัดการกับปัญหา หนี้สูงของหลายบริษัทและรัฐวิสาหกิจ โดยแม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอลงในช่วงหลัง แต่กลับมีบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านหลายช่องทาง (จะกล่าวในส่วนต่อไป)


อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี 2018 ที่สงครามการค้าเริ่มขึ้น ทำให้เกิดการชะลอตัวเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจจีน โดยจาก คาดการณ์ล่าสุดของ IMF (ณ ต.ค. 2019) คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 6.1% ในปี 2019 เทียบกับปี 2018 ที่ขยายตัว 6.6% ขณะที่ในปี 2020 IMF คาดเศรษฐกิจจีน จะขยายตัวเพียง 5.8% ซึ่งนับเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำที่สุดของจีน ในรอบเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีสาเหตุสำคัญมาจากความขัดแย้งทางการค้า มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง ดังนี้


1) ผ่านการส่งออกที่หดตัว โดยการ ที่สินค้าจีนหลายประเภทมียอดขาย น้อยลงในตลาดสหรัฐ เนื่องจากโดนกีดกัน ทางการค้า จึงทำให้จีนมีการผลิตสินค้าเหล่านั้นน้อยลงด้วย ซึ่งไทยเองนับเป็นประเทศสำคัญที่มีการส่งออกวัตถุดิบ ขั้นกลางไปยังจีน เพื่อผลิตสินค้าดังกล่าว (อยู่ใน supply chain การผลิตของจีน)

ดังนั้น ไทยจึงได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ลดลงด้วย อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์, ยางพารา และ ผลิตภัณฑ์ไม้ นอกจากนี้ การส่งออกไทย ไปจีนในสินค้าอื่น ๆ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคก็มีการชะลอตัวเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจจีนในภาพรวมที่ชะลอลงย่อม ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ลดลงเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น การที่ภาคส่งออกของจีน มีการหดตัวต่อเนื่องก็ยังส่งผลทำให้เศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพาจีน มีการ ชะลอตัวตามไปด้วย เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาของอีไอซีพบว่า ยิ่งประเทศที่มีการพึ่งพาจีนมาก (วัดจากสัดส่วนการส่งออก ไปจีนเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของแต่ละ ประเทศ) การส่งออกของไทยไปยังประเทศ ดังกล่าวก็จะยิ่งชะลอ/หดตัวมากกว่า ซึ่งนับเป็นผลกระทบเพิ่มเติมทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่ลดลง


2) ผ่านการท่องเที่ยวที่ลดลงจากแนวโน้มเดิม โดยแม้ว่านักท่องเที่ยวจีน จะเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง หลังเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อปลายปี 2018 แต่จากการศึกษาพบว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนในครั้งเหตุการณ์เรือล่มใช้ระยะเวลานานกว่าเหตุการณ์วิกฤตในครั้งก่อนหน้า โดยครั้งล่าสุดใช้เวลาเกือบ 4 เดือนในการฟื้นตัว เทียบกับ เหตุการณ์ระเบิดศาลพระพรหมที่ใช้เวลาเพียง 2 เดือน และเหตุการณ์ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญที่ใช้เวลาเพียง 3 เดือน

นอกจากนี้ การฟื้นตัวดังกล่าวยัง กลับมาไม่เท่ากับค่าเฉลี่ยแนวโน้มในอดีต สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ในช่วง 10 เดือนแรกที่ขยายตัว เพียง 3.6% เทียบกับค่าเฉลี่ยอัตรา ขยายตัว 10 เดือนแรก 3 ปีย้อนหลัง (2016-2018) ที่มีค่าสูงถึง 10.6% ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวย่อมส่งผลถึงรายได้ประชาชนที่ลดลง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยลดลงอีกด้วย


3) ผ่านการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง จากสถิติเมื่อปี 2018 พบว่ามากกว่า 43% ของการโอนเงินของต่างชาติทั้งหมดเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเป็น นักลงทุนจีนและฮ่องกง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับนักลงทุนสัญชาติอื่น สะท้อนว่านักลงทุนจากจีนและฮ่องกงมีความสำคัญต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่มีการชะลอตัวในปีนี้ จึงทำให้ยอดโอนเงินของนักลงทุนจีนและฮ่องกง ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2019 ลดลงมากถึง 36%

ทำให้ยอดรวมการโอนเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์จากต่างชาติทั้งหมดหดตัว กว่า 31.1% ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจะส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งนับเป็น ผลกระทบเพิ่มเติมของภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ที่จัดทำเมื่อต้นปี 2019


4) ผ่านการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีน บางประเภท เนื่องจากสินค้าจีนบางส่วนได้รับการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ จึงทำให้มีกำลังการผลิตเหลือ จีนจึงอาจระบายสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอื่น เพื่อเป็นการหาตลาดใหม่ โดยไทยก็เป็น หนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ ในส่วนนี้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสินค้าที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวในปัจจุบัน ได้แก่ เหล็ก, อะลูมิเนียม, เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท และผักผลไม้บางประเภท (สะท้อนจากตัวเลขนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนที่เป็นบวกหลังจากมีสงคราม การค้า เทียบกับการนำเข้าสินค้านั้น ๆ ในประเทศอื่นที่มีค่าเป็นลบ)

ทั้งนี้ การเข้ามาของสินค้าจีนดังกล่าวอาจทำให้ผู้ผลิตของไทยได้รับผลกระทบ จากการแข่งขันกับสินค้าจีนที่ส่วนมากจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า


5) ผ่านการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติที่มีจุดประสงค์หลบหลีกผลกระทบ ของสงครามการค้า โดยในปัจจุบัน บริษัท ที่มีที่ตั้งการผลิตในประเทศจีนได้รับ ผลกระทบจากการเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐ ดังนั้น หากสถานการณ์ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ก็มีแนวโน้มที่บริษัทดังกล่าวจะตัดสินใจ ย้ายฐานการผลิตออกมาจากประเทศจีน เพื่อหลบหลีกภาษีนำเข้าที่จัดเก็บโดยสหรัฐ ซึ่งภูมิภาคอาเซียนนับเป็นเป้าหมาย อันดับแรกของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากมีความใกล้กับประเทศจีน, มีศักยภาพด้านแรงงานในการผลิต, มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม และค่าแรงไม่ได้สูงมากเกินไป

โดยประเทศที่จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ในความสนใจด้านการย้ายฐานการผลิตก็คือ ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันแต่ละประเทศก็พยายามออกมาตรการเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติดังกล่าว รวมถึงไทยที่ได้ออกมาตรการ Thailand Plus ไปใน ช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ หากพิจารณาสถิติการขอลงทุนจากจีนของ BOI พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2019 มีการขยายตัวของมูลค่าลงทุนที่ได้รับอนุญาตมากถึง 128% ซึ่งส่วนหนึ่ง อาจสะท้อนได้ว่านักลงทุนมีความสนใจ ในการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย อย่างไรก็ดี ตัวเลขสถิติจาก BOI เป็นเพียงมูลค่าการขอรับสิทธิที่ยังไม่มีการลงทุนจริง การขยายตัวดังกล่าวจึงเป็นเพียงแค่สัญญาณการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น ได้ในอนาคตเท่านั้น

จากที่เศรษฐกิจจีน ปี 2020 ยังมี แนวโน้มชะลอต่อเนื่อง ดังนั้น เศรษฐกิจไทย จึงยังมีโอกาสได้รับผลกระทบผ่านทั้ง 5 ช่องทางที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งจะเป็น ปัจจัยท้าทายต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ หากความขัดแย้ง ระหว่างจีนและสหรัฐปรับตัวดีขึ้นจาก การเจรจา phase 1 ก็อาจส่งผลดีต่อ เศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออกที่จะปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายปัจจัยใน ประเทศกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า อาทิ เงินบาทแข็งค่า, หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง, ระดับ หนี้เสียที่เริ่มปรับสูงขึ้น, ผลกระทบของ มาตรการ LTV ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาเชิงโครงสร้างด้านการ กระจุกตัวของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ (market concentration)


คอลัมน์ มองข้ามชอต: พนันดร อรุณีนิรมาน
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธ.ไทยพาณิชย์

Source: ประชาชาติธุรกิจ


 

0 Share