จับตาบิ๊กดีลควบรวม "ทีเอ็มบี-ธนชาต" จบเร็วๆ นี้ วงการเผยจ่อเซ็นเอ็มโอยูสิ้นเดือน ม.ค. โดยหลังควบรวม ยังใช้ชื่อ "ทีเอ็มบี" ขณะบริษัทย่อยของธนชาต เลือกมาเพียงบางกิจการเท่านั้น ยืนยันไม่มีปลด-ลดคน
ด้าน ธนชาต ปรับทัพรองรับการควบกิจการ "นักวิเคราะห์" มั่นใจทุกฝ่าย ได้ประโยชน์ เหตุฐานลูกค้าคนละกลุ่ม เชื่อต้นทุนต่ำลงหลังควบรวม
ดีลการควบรวมกิจการระหว่าง ธนาคารทหารไทย หรือ "ทีเอ็มบี" กับ ธนาคารธนชาต ซึ่งดูเหมือนจะยืดเยื้อออกไปหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในรายละเอียดปลีกย่อย โดยเฉพาะเรื่องการโอน กิจการของบริษัทลูกของแต่ละธนาคาร แต่ล่าสุดการเจรจาดังกล่าวมีความคืบหน้า ไปอย่างมาก จนล่าสุดได้บรรลุข้อตกลงกันเบื้องต้นและเตรียมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวจากธนาคารทหารไทย กล่าวว่า หลังจากฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารได้ใช้เวลาในการเจรจาทั้งในแง่หลักการและรายละเอียดของการควบรวมกิจการของ ทั้ง 2 ธนาคารมาระยะหนึ่ง ขณะนี้ ทุกอย่างถือว่าใกล้ได้ข้อยุติ และคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้ การเจรจาน่าจะเสร็จสิ้น และคงมีการลงนามในเอ็มโอยูเพื่อ ควบรวมกิจการกันได้
หลังควบยังใช้ชื่อ "ทีเอ็มบี"
ทั้งนี้ ภายหลังควบรวมกิจการแล้วธนาคารทหารไทย จะเข้ามาบริหารกิจการเพียงรายเดียว โดยยังใช้ชื่อ ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี เช่นเดิม ซึ่งหมายความว่า ทีเอ็มบี จะต้องเข้าไปซื้อหุ้นในกิจการของธนาคารธนชาต ขณะที่ในส่วนของบริษัทลูกของธนาคารธนชาต จะเลือกมาในบางกิจการเท่านั้น
"ดีลการเจรจาควบรวมน่าจะจบเร็วๆนี้ และ ภายในสิ้นเดือนนี้ จะมีการลงนามในสัญญาการควบรวมกิจการ"แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับพนักงานของทั้งสองแห่ง จะไม่มีการปรับลด เนื่องจาก ทั้งสองแห่งก็มีฐานลูกค้าของตัวเองที่แตกต่างกัน
เร่งปิดดีลก่อนเปลี่ยนรัฐบาล
ด้านแหล่งข่าววงการการเงิน กล่าวว่า ดีลการควบรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีกับธนาคารธนชาต น่าจะจบลงในเร็วๆ นี้ เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใกล้หมดวาระ ดังนั้นหากไม่เร่งเจรจาให้เสร็จโดยเร็ว ทาง สโกเทียแบงก์ และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ อาจต้องนับหนึ่งเจรจากันใหม่
"หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของการควบรวมที่อาจจะได้ จากการควบรวมภายใต้รัฐบาลนี้ จึงเป็นเป็นเหตุให้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างสโกเทีย ต้องเร่งเจรจากับกระทรวงการคลัง และผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่นๆอย่างต่อเนื่อง"
'ธนชาต'ปรับโครงสร้างรับควบรวม
นอกจากนี้ มีกระแสข่าวว่า ธนาคารธนชาต ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของธนาคาร ในอนาคต และเพื่อให้เกิดการคล่องตัวทั้งการ ปรับตำแหน่งผู้บริหารสำคัญๆของแบงก์ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปบทบาท หรือการขยับตำแหน่งกันภายใน รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรีเทลแบงกิ้งด้วย ที่ล่าสุดมีการปรับโครงสร้างผู้บริหาร ครั้งใหญ่ เหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อเปิดทางไปสู่การบริหารแบงก์ หลังการควบรวมให้บริหารงานง่ายขึ้นด้วย
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า หากมีการควบรวม กิจการเกิดขึ้นจริงระหว่างทีเอ็มบีกับธนาคารธนชาต จะทำให้มีความได้เปรียบจากที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น จากที่ ทีเอ็มบี มีสินทรัพย์ ประมาณ 9 แสนล้านบาท และ ธนาคารธนชาตมีสินทรัพย์ประมาณ 1 ล้านล้านบาท รวมอยู่ที่ 1.9 ล้านบาท ทำให้ขนาดใกล้เคียงกับธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)หรือ BAY ซึ่งอยู่อันดับ 5 ของไทย
ต้นทุนต่ำลงหลังควบรวม
รวมทั้งจะทำให้ธนาคารใหม่มีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น จากการที่ 2 แบงก์นั้นมีฐานลูกค้าที่ต่างกัน โดย ทีเอ็มบี เน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วน ธนาคารธนชาต เน้นสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลักทำให้เกิดประโยชน์ และจะทำให้มีต้นทุนการลงทุนเรื่องระบบไอที เป็นการลงทุนครั้งเดียว ซึ่งหาก 2 แบงก์ต่างคนต่างลงทุนทำให้มีต้นทุน การลงทุนที่สูง แต่หากควบรวมกันจะทำให้มีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำลง
ทั้งนี้บริษัทมองว่าหากมีการควบรวม กันจะเป็นลักษณะการแลกหุ้น เพราะ หากมีการซื้อหุ้น ทีเอ็มบี จะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงระดับ แสนล้านบาท จากที่ มูลค่าทางบัญชี (บุ๊กแวลู)ของธนาคารธนชาตอยู่ 1.4 แสนล้านบาท ขณะนี้บริษัทยังคงแนะนำซื้อ ทีเอ็มบี ให้ราคาเป้าหมาย ที่ 2.78 บาทต่อหุ้น เพราะ ปี 2562 เพราะผลการ ดำเนินงานเติบโตที่ดี หากไม่นับรวมกำไรพิเศษเกิดขึ้นปี 2561
Source: กรุงเทพธุรกิจ